บัวตองไม่สยองขวัญ ไอยูซีเอ็นชี้ให้ตัดทิ้งหมดไม่สงสารคนแม่ฮ่องสอนหรือ? อุทยานแจงถ้าไม่มีก็เป็นเขาหัวโล้นเอาไหม?

จากกรณีสื่อโซเชียลมีการแชร์ภาพและข้อมูลจากนักวิชาการระบุว่า ดอกบัวตองเป็นดอกไม้สยองขวัญ โดยระบุในหัวข้อโซเชียลว่า บัวตองสยองขวัญ โดยเฉพาะที่ดอยแม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพืชต่างถิ่นชนิดรุกรานรุนแรง ทำลายระบบนิเวศดั้งเดิมนับ 1,000 ไร่ ไม่มีท่าทีว่าจะหยุดยั้งได้ ซึ่งบัวตองสร้างสารพิษต่อพืชอื่นรอบๆ ทำให้ทั้งข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หญ้าพื้นเมืองอื่นๆ ได้รับผลกระทบ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวของออกมาแก้ไขปัญหาอย่างแข็งขันเช่นเดียวกับกรณีหนอนตัวแบนนิวกินีที่มีการข่าวแพร่กระจายในประเทศไทยก่อนหน้านี้

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ทุ่งดอกบัวตอง ที่ดอยแม่อูคอ อ.ขุนยวมนั้น เดิมกรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อปี 2542 โดยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สุรินทร์ ซึ่งการจัดการพื้นที่วนอุทยานนั้นจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าเขตอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ ดอกบัวตองที่พบในพื้นที่ดอยแม่อูคอนั้นมีมาก่อนการประกาศเป็นวนอุทยานและมีการจำกัดพื้นที่ มีเป็นจำนวนมากในเขต จ.แม่ฮ่องสอนเท่านั้น และหากพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณโดยรอบไม่ได้ประกาศเป็นวนอุทยาน วันนี้ก็อาจถูกบุกรุกและเปลี่ยนสภาพเป็นเขาหัวโล้นไปแล้วก็ได้

นายทรงธรรมกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในเขตอุทยานฯ หรือหน่วยจัดการต้นน้ำบางแห่งในพื้นที่ภาคเหนือก็พบดอกบัวตองขึ้นมาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ แต่ไม่ได้ขึ้นเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งดอกบัวตองเป็นพืชต่างถิ่นก็จริง แต่ยังไม่แพร่กระจายหรือส่งผลกระทบต่อป่าธรรมชาติ และที่สำคัญไม่อนุญาตให้ปลูกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่แล้ว หากพบต้องกำจัดทิ้ง ไม่เฉพาะเพียงชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์จากต่างประเทศเท่านั้น หากไม่ใช่พืชพันธุ์ที่พบในพื้นที่ท้องถิ่นนั้นๆ เราก็ไม่ให้นำเข้ามาปลูกอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เป็นเรื่องของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีมติ ครม.รองรับในการดำเนินการ และเป็นนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรฯ ในการดูแลผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว

Advertisement

นายทรงธรรมกล่าวว่า กรมอุทยานฯ ได้ศึกษาเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอาจเป็นได้ทั้งด้านบวกและด้านลบทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ส่งผลกระทบในพื้นที่อุทยานฯ มีจำนวน 22 ชนิด และมีการแพร่กระจายในหลายอุทยานฯ มากที่สุดคือ สาบเสือ หญ้าคา ไมยราบเลื้อย กระถินยักษ์ สาบหมา ผักเผ็ดแม้ว ผกากรอง หญ้าขจรจบดอกเล็ก ไมยราบยักษ์ ปีนนกไส้ เป็นต้น ขณะที่อุทยานฯถ้ำสะเทิน และอุทยานฯ แก่งกระจาน พบพืชต่างถิ่นเหล่านี้รุกรานมากที่สุด ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ขอยกตัวอย่างไมยราบยักษ์ ที่สามารถเติบโตแก่งแย่งการเอาชนะพืชในท้องถิ่นได้ ทำให้องค์ประกอบของพันธุ์ไม้ในป่าผิดไปจากเดิม สัตว์ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นต้องย้ายที่อยู่เพราะถิ่นอาศัยเปลี่ยนไป เป็นต้น

นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (ไอยูซีเอ็น) กล่าวว่า หลายคนทราบดีว่า ดอกบัวตองเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ชนิดหนึ่ง เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว จนเวลานี้กลายเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของ จ.แม่ฮ่องสอนไปแล้ว

“การจะไปบอกว่า ต้องตัดทิ้งทำลายให้หมดก็ดูเหมือนจะใจร้ายกับคนแม่ฮ่องสอนมากเกินไป แต่ครั้นจะปล่อยให้มีการขยายพันธุ์อย่างไร้ขอบเขตก็คงไม่ถูกนัก ในบางพื้นที่ที่เป็นเขตอนุรักษ์ก็คงต้องมีการควบคุมบ้าง เช่น ในเขตอุทยานแห่งชาติ ผมไม่รู้ว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จ.แม่ฮ่องสอนนั้น มีต้นบัวตองกระจายพันธุ์อยู่หรือไม่” นายเพชรกล่าว

นายเพชรกล่าวว่า ตัวอย่างการจัดการเอเลียนสปีชีส์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่น่าจะเป็นกรณีศึกษาได้เคยมีมาแล้ว คือ ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยก่อนหน้านี้มีการระบาดของต้นผกากรอง ซึ่งเป็นเอเลียนสปีชีส์ชนิดหนึ่ง ที่มีดอกสวยมาก เป็นไม้ที่ขึ้นง่ายตายยาก กระจายเต็มทุ่งในเวลาอันรวดเร็วและมีสีสวยมาก ผลเสียก็คือ สัตว์กินพืชชนิดนี้ไม่ได้เลย และบริเวณรอบๆ ที่มีต้นผกากรอง ก็ไม่มีหญ้าชนิดอื่นขึ้นเช่นเดียวกัน แม้จะสวยอย่างไรก็ต้องตัดทิ้งให้หมด เพราะจะกระทบต่อสัตว์และพืชในพื้นที่อุทยานฯด้วย

“สำหรับที่แม่ฮ่องสอนนั้น หากจะทำให้พื้นที่ทั้งหมดที่เป็นทุ่งบัวตองเวลานี้เปลี่ยนไปเป็นไม่มีบัวตอง โดยใช้เหตุผลว่ามันคือเอเลียนสปีชีส์ ผมว่าการจัดการมันก็ต้องดูบริบทประกอบหลายๆ อย่าง เพราะบัวตองมันกลายเป็นเหมือนวิถีชีวิตของชาวบ้านไปแล้ว หากจะทำก็ต้องทำตั้งแต่มันเข้ามาใหม่ๆ มานึกจะทำตอนนี้ดูเหมือนจะช้าไปแล้ว”รองผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมไอยูซีเอ็นกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image