ชันสูตร ทำไมต้องทำ ล้วงตับ ไต สมอง ออกจากร่างผู้ตายž

การชันสูตรพลิกศพ กลายเป็นประเด็นที่ถูกให้ความสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งกรณีการเสียชีวิตของ น้องเมย นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ปีที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา

ทางโรงเรียนเตรียมทหารแจ้งสาเหตุว่า หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน แต่ครอบครัวยังติดใจ จึงได้เรียกร้องขอความเป็นธรรม และได้นำร่างของผู้เสียชีวิตไปชันสูตรใหม่ ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (นิติเวช) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แล้วพบว่าอวัยวะที่สำคัญภายในร่างกายหายไปนั้นนักเรียนเตรียมทหาร จำเป็นต้องผ่าพิสูจน์ศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว ยิ่งทำให้สังคมเกิดคำถามถึงขั้นตอนการชันสูตร ต้องมีการนำอวัยวะออกจากร่างกาย เพื่อนำมาพิสูจน์ตามขั้นตอนทางนิติวิทยาศาสตร์

แท้จริงแล้วขั้นตอนการชันสูตรของแพทย์ด้านนิติเวชเป็นอย่างไร และใช้ได้ในกรณีใดบ้าง หรือมีกรณีใดจำเป็นต้องแจ้งญาติให้ทราบถึงการชันสูตรหรือไม่ หรือไม่จำเป็นต้องแจ้งเลย

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตหัวหน้าภาควิชานิติเวช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงเหตุของการผ่าพิสูจน์ศพโดยไม่ต้องแจ้งญาติ ว่า การผ่าศพผู้เสียชีวิตนั้น หากทำเพื่อการศึกษา จำเป็นต้องได้รับการยินยอม แต่ในกรณีศพที่เป็นคดีหรือพนักงานสอบสวนส่งศพให้มีการพิสูจน์ แพทย์สามารถผ่าพิสูจน์ศพ และเก็บอวัยวะภายในของผู้เสียชีวิตได้โดยไม่ต้องแจ้งญาติ เพื่อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรมและถือเป็นการปกป้องสิทธิให้ผู้เสียชีวิต เพื่อหาสาเหตุการตาย เพราะหากพบว่าเป็นการเสียชีวิตจากการฆาตกรรมก็จะได้สืบหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ หรือหากไม่ใช่ก็จะได้ทราบข้อเท็จจริง

Advertisement

ตามกฎหมายระบุชัดเจนว่า กรณีเป็นการตายผิดธรรมชาติมี 5 ประเภทต้องชันสูตรพลิกศพโดยไม่ต้องขอการยินยอมจากญาติ ประกอบด้วย 1.ฆ่าตัวตาย 2.ถูกผู้อื่นฆ่าตาย 3.สัตว์ทำร้ายตาย 4.ตายโดยอุบัติเหตุ และ 5.ตายโดยไม่ปรากฏเหตุ

โดยหลักแล้วหากพบผู้เสียชีวิต ทางเจ้าพนักงานสอบสวนจะมีหนังสือส่งตัวมาให้แพทย์นิติเวชชันสูตรพลิกศพและผ่าศพ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต เป็นไปตามกฎหมายโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากญาติŽ อดีตแพทย์นิติเวชกล่าว

อย่างไรก็ตาม ควรมีการสื่อสาร เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจกับญาติว่า ก่อนการผ่าศพคงจะยังบอกไม่ได้ว่า แพทย์นิติเวชจะต้องผ่าเอาอวัยวะใดออกมาพิสูจน์บ้าง เนื่องจากเมื่อไม่ทราบสาเหตุ หากผ่าไปแล้วก็ยังไม่พบสาเหตุตายอีก ก็จำเป็นต้องนำอวัยวะที่สงสัย เช่น หัวใจ สมอง หรืออวัยวะอื่นๆ ออกมาตรวจอย่างละเอียด หลายครั้งให้ผู้ช่วยแพทย์ออกไปสื่อสารกับทางญาติ แต่บางครั้งก็อาจสื่อสารได้ไม่หมดก็มี

Advertisement

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อำนาจ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในบางกรณีไม่ซับซ้อน อาจไม่จำเป็นต้องนำอวัยวะออกจากร่างกายก็มี เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรงและเสียชีวิต หากวินิจฉัยแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่เมื่อได้มีการผ่าพิสูจน์ในช่องท้อง อาจพบเป็นมีเลือดออกเต็มท้อง เนื่องจากการแตกของเส้นเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพอง ก็ถือว่าพบสาเหตุแล้ว
แต่หากไม่พบสาเหตุอีก ก็จำเป็นต้องผ่าพิสูจน์ต่อไป ทั้งในตับ ไต หรืออวัยวะอื่นๆ อีก

ส่วนในกรณีจำเป็นต้องนำหัวใจและสมองมาตรวจ เนื่องจากสมองและหัวใจมีลักษณะเป็นเนื้อนิ่ม การผ่าจำเป็นต้องนำมาแช่น้ำยาทิ้งไว้ให้คงตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จะทำให้ตรวจได้อย่างละเอียด และสามารถเก็บเพื่อตรวจต่อได้อีกเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ผ่าพิสูจน์ได้เห็นชัดขึ้นว่ามีการแตกหรือโป่งพอง หรือมีภาวะตีบตันตรงไหน
อย่างสมองจะตัดชิ้นเนื้อเพียงบางส่วนก็ไม่ได้ เพราะสมองมีเส้นประสาทเส้นเลือดเต็มไปหมด ต้องดูอย่างละเอียด

เมื่อถามว่า การผ่าพิสูจน์ศพนั้นหากนำอวัยวะออกมาแล้วจะกลับใส่ที่เดิมได้หรือไม่
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจกล่าวว่า สามารถเอาใส่กลับไปได้ แต่บางกรณีหากนำเข้าไปในร่างกายก็มีโอกาสจะเน่าได้ง่ายเช่นกัน เนื่องจากปกติน้ำยาที่ฉีดเข้าไปภายในร่างกายผู้เสียชีวิต หรือฟอร์มาลิน จะใส่เข้าไปจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เน่า แต่ในทางกลับกันอวัยวะที่เรานำออกมาพิสูจน์นั้น จะใส่มากก็ไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้เสียสภาพ
ที่ผ่านมาเมื่อมีการผ่าพิสูจน์ศพโดยนำอวัยวะออกมา ก็จะแจ้งให้ทางญาติทราบ ญาติจะเข้าใจและส่วนใหญ่จะขอนำศพออกไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก่อน ส่วนอวัยวะที่ต้องรอพิสูจน์ก็จะให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้นำไปทำการฌาปนกิจต่อหลังคดีเสร็จสิ้น หรือทางญาติอาจแจ้งความประสงค์ว่าจะมารับในภายหลัง

ทั้งหมดนี้อยู่ที่การหารือร่วมกันระหว่างญาติกับแพทย์

สำหรับคำถามที่ว่า กรณีเอาอวัยวะออกไป อย่างสมอง เพราะเหตุใดจึงต้องมีการนำกระดาษใส่ไว้ในสมองแทน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจกล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องของการทำให้โครงสร้างศีรษะคงตัว ขึ้นอยู่กับแพทย์แต่ละคน บางทีก็อาจใช้วัสดุอื่นเช่นโฟม

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่การผ่าพิสูจน์ศพอาจไม่พบสาเหตุ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจกล่าวว่า น้อยมาก เพราะแพทย์นิติเวชทุกคนจะพยายามหาสาเหตุอย่างเต็มกำลัง แต่ก็อาจมีได้เช่น กรณีการใหลตาย ก็ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน จะมีแพทย์หลายท่านให้ความเห็นร่วมกันว่า เป็นสาเหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลวโดยไม่มีพยาธิสภาพอื่น หรือรอยโรคชัดเจน เนื่องจากหัวใจมีระบบการทำงานซับซ้อน มีการทำงานโดยใช้ระบบการนำสัญญาณไฟฟ้าเฉพาะ

หากระบบการนำไฟฟ้านี้ขัดข้องจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต หัวใจหยุดเต้น เมื่อแพทย์นิติเวชมาตรวจก็จะไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้
แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแพทย์นิติเวช

ทุกคนจะพยายามหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างสุดความสามารถ เพราะนี่คือการปกป้องสิทธิให้ผู้เสียชีวิตที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image