สธ.จับมือ ‘เจ้าของสูตรสมุนไพร’ แจกผู้ป่วยมะเร็งปราจีนฯ ร่วมหาสารออกฤทธิ์ 3 เดือนรู้ผล

นายแสงชัย แหเลิศตระกูล

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีนายแสงชัย แหเลิศตระกูล เจ้าของตำรับสมุนไพรบำบัดโรคมะเร็ง ได้ทำการแจกตัวสมุนไพรที่มีลักษณะเป็นแคปซูล เพื่อแจกให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งในระยะท้าย ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากไปรอรับ จนเกิดคำถามในสังคมออนไลน์ว่ามีสรรพคุณจริงหรือไม่ และกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการยืนยันความปลอดภัย รวมถึงประสิทธิภาพการออกฤทธิ์

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยนายแสงชัย แหเลิศตระกูล เจ้าของตำรับสมุนไพรบำบัดโรคมะเร็ง ร่วมแถลงข่าวกรณีตำรับสมุนไพรรักษาโรคมะเร็งจังหวัดปราจีนบุรี โดย นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า จากปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งทั่วประเทศ เดินทางมารับยาสมุนไพรตำรับดังกล่าวจากนายแสงชัย จำนวนมากกว่า 5,000 คนต่อเดือน ดังนั้น กรมแพทย์แผนไทยฯ ในฐานะเป็นกรมวิชาการ เห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ เพราะสมุนไพรมีจำนวนมากที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้ แต่ต้องผ่านการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ทางกรมจึงได้ประสานไปยังนายแสงชัย และร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการดำเนินการวิจัยเพื่อให้เกิดความชัดเจน

“โดยจะศึกษาใน 2 ประเด็น คือ 1.การศึกษาประสิทธิผลเบื้องต้นต่อเซลล์มะเร็งต่างๆ ในหลอดทดลอง รับผิดชอบโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และ 2.การศึกษาลักษณะประชากรและประเมินกลุ่มเสี่ยงในผู้ป่วยมะเร็งที่มารับสมุนไพรรักษามะเร็งดังกล่าว  โดยจะมีการศึกษาเบื้องต้น คาดว่าใช้เวลา 3 เดือน หากได้ผลเป็นบวก ไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย จะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานวัตถุดิบและยาสำเร็จของตำรับต่อไป  คาดว่าหากถึงขั้นนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี” นพ.เกียรติภูมิกล่าว และว่า แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงย้ำเสมอว่า ผู้ป่วยมะเร็งจะต้องตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แผนปัจจุบันก่อน การรักษาก็ยังต้องอิงตามแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนแพทย์แผนไทยจะเป็นทางเลือกคู่ขนาน ซึ่งการรักษาโรคต่างๆ สามารถรักษาร่วมกันระหว่างแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนายแสงชัย จำเป็นต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานการผลิตสมุนไพรหรือไม่ รวมถึงเกณฑ์การจ่ายยาต้องได้รับขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้านหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า  สมุนไพรเป็นสารกึ่งยา ต้องมีกฎหมายเฉพาะ ซึ่งจะใช้กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับกฎหมายเฉพาะนั้น ขณะนี้กรม ได้ผลักดันกฎหมายผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งจะครอบคลุมการใช้ การผลิตสมุนไพร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนการขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้านนั้น ทางนายแสงชัยได้ส่งเรื่องเข้ามาขอขึ้นทะเบียนเช่นกัน โดยกรมอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและเกณฑ์ต่างๆ  ซึ่งหมอพื้นบ้าน จะเป็นหมอที่ได้รับหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน เป็นผู้ที่มีบทบาทในการดูแลชาวบ้านในชุมชน ซึ่งอาจไม่มีใบประกอบโรคศิลปะแต่ต้องผ่านการรับรองจากกรมก่อน

Advertisement

ด้าน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า  สำหรับขั้นตอนการศึกษาวิจัยนั้นจะมี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก  3 เดือน โดยจะเป็นการศึกษาประชาชนที่มารับยา ผู้ป่วยที่มารับ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 5,000-6,000 คนต่อเดือน เบื้องต้นขั้นต่ำจะเก็บข้อมูลประมาณ 2,000 คน ซึ่งจะเก็บข้อมูลที่ สถานีตำรวจภูธร (สภอ.) ปราจีนบุรี ซึ่งจะดูว่าป่วยเป็นมะเร็งชนิดใด มะเร็งระยะใด และได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างไรบ้าง  รวมทั้งที่ผ่านมารับยาไปแล้วอาการเป็นอย่างไร  ส่วนขั้นการทดลองสารจากยา หาความปลอดภัย ตรวจหาเชื้อปนเปื้อนหรือตรวจหาสเตียรอยด์ จะเป็นหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนสถาบันมะเร็งแห่งชาติจะตรวจในระดับหลอดทดลองว่า มะเร็งชนิดไหนตายจากยาตัวนี้บ้าง

“หากผลการตรวจในระยะแรกออกมาเป็นบวก ก็จะนำไปสู่การทดลองระยะที่ 2  ซึ่งจะเป็นช่วงเปิดสูตรต่อไป และนำไปสู่ความร่วมมือการผลิตในรูปของยาสมุนไพรในอนาคต ซึ่งกรณีนี้จะต้องให้ชัดเจนก่อนว่าสมุนไพรของนายแสงชัย ไม่ส่งผลข้างเคียง และมีฤทธิ์ทางยาได้จริง” นพ.ปราโมทย์กล่าว

นายแสงชัยกล่าวว่า จริงๆ ตนไม่ใช่หมอ เพียงแต่ต้องการแจกสมุนไพรที่ได้สูตรมา เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย และมีใบรับรองแพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็ง ตนจึงได้แจกผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งที่มีใบรับรองแพทย์มานานกว่า 12 ปีแล้ว ตัวผลิตภัณฑ์มีทั้งน้ำมันรำข้าวที่ได้จากการสีครั้งแรก และยังมีสมุนไพรที่เรียกว่า ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ และพิลังกาสา โดยใช้ทุนของตัวเองร่วมกับการได้รับสมุนไพรมาฟรีๆ จากชาวบ้าน ส่วนกระบวนการผลิตนั้นมีห้องผลิตอยู่แล้ว ทั้งนี้เดิมจะแจกให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่รักษาไม่ได้แล้ว แต่ปัจจุบันมีทั้งคนป่วยมะเร็งระยะแรกๆ ก็มา ทำให้มีปัญหาว่าคนเยอะต้องแบ่งยาให้ ซึ่งอาจจะได้น้อย  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคนป่วยมะเร็งระยะแรกนั้นตนอยากให้พบแพทย์แผนปัจจุบันก่อน

“จากที่ทำมา 12 ปี ไม่ได้มีการศึกษาวิจัยอะไร ใช้ประสบการณ์ ซึ่งจากการสังเกต และการบอกกล่าวของผู้ที่มารับผลิตภัณฑ์ และผลจากการตรวจเลือด ตรวจสุขภาพของผู้ป่วยเอง ซึ่งมะเร็งส่วนใหญ่ที่ได้ผลน่าพอใจจะเป็นมดลูก รังไข่ และเต้านม ที่ผ่านมามีบริษัทยาจากจีน และญี่ปุ่นเข้ามาติดต่อซื้อสูตรยา บางบริษัทมาขอให้เราผลิตให้เขาเลย แต่เราไม่ทำ คิดว่าการเข้าร่วมศึกษาวิจัยต่อยอดครั้งนี้น่าจะเกิดประโยชน์กับคนไทยมากกว่า” นายแสงชัยกล่าว และว่า ต่อจากนี้ก็ยังมีการแจกผลิตภัณฑ์เช่นเดิม แต่ในวันที่ 3 ธันวาคม เป็นครั้งแรกที่จะมีการทดลองระบบการแจกยาใหม่ โดยสแกนบัตรสมาร์ทการ์ด ให้คูปอง แล้วค่อยแจกผลิตภัณฑ์

ภาพจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ภาพจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ภาพจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image