“อธิบดีป่าไม้”เผยร่างโซนนิ่ง ภูทับเบิก เสร็จแล้วกว่า 90% พบ 95 รีสอร์ต นายทุนรุกป่า

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า การแก้ปัญหาในพื้นที่ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ว่า ตามมาตรการแก้ปัญหา 3-8-8 คือ การแก้ปัญหาร่วมกัน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกันขับเคลื่อน 8 ยุทธศาสตร์ให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมานั้น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดทำร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการการใช้พื้นที่ หรือการโซนนิ่งภูทับเบิกแล้วเสร็จไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการรับฟังข้อคิดเห็นและเสนอแนะ เพื่อให้เป็นการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนต่อไป โดยหลังจากได้ร่างสรุปมาแล้วจะเร่งนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ คาดว่าต้นเดือนเมษายนจะแล้วเสร็จ เพื่อให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการยื่นขอประโยชน์พื้นที่จากกรมป่าไม้

นายชลธิศ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจทำผังภาพรวมของที่ดินทั้งหมด เป็นพื้นที่พิพาทหลัก 13,447 ไร่ เป็นสถานประกอบการรีสอร์ต 95 แห่ง จำนวน 267 ไร่ พบว่าเป็นเจ้าของเดิมสืบ ทอดมาตั้งแต่พ.ศ.2509 ที่มีการขออนุญาตครั้งแรก จำนวน 35 แห่ง ส่วนอีก 60 แห่งพบเป็นบุคคลภายนอก หรือพวกกลุ่มนายทุน ซึ่งตามกฎหมายถือว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิ์ และที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้จับกุมดำเนินคดีรีสอร์ตไปแล้ว จำนวน 38 ราย โดย 18 ราย ศาลได้ตัดสินให้จำเลย และบริวารออกจากพื้นที่ ส่วนรีสอร์ตรายอื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบติดตามคดีว่า มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ หรือทำผิดเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ใช่เจ้าของเดิม เจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการจับกุมตามกฎหมายทันที เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ทั้งหมด ประชาชนที่อยู่ในพื้นล่างจะได้รับผลกระทบ ซึ่งแม้ในพื้นที่จะมีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวแต่ขณะเดียวกันการักษาระบบนิเวศก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องมีมาตรการในการดูแลอย่างรอบด้าน

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการตรวจสอบไม่ให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติม พร้อมมีการคัดกรองบุคคลอย่างเข้มข้น ซึ่งหากได้ผังแม่บทการบริหารจัดการพื้นที่อาจมีปรับปรุงโครงสร้างรีสอร์ต โดยบางแห่งต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม แต่ส่วนใหญ่อาจต้องเปลี่ยนแบบเพื่อให้โครงการของรีสอร์ตมีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งจะมีการพูดคุยกับบุคคลที่มีส่วนได้เสีย เนื่องจากต้องมีการแบ่งโซน อาทิ รีสอร์ตบ้านพัก ที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อหารือโดยเน้นให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวม้งต้องดีขึ้น พร้อมวางแผนอนาคตอีก20 ปีข้างหน้าว่าควรมีการบริหารจัดการอย่างไรบ้างเพื่อเกิดความยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image