หวั่น หยุดยาว แอบเอาสัตว์เลี้ยงเข้าอุทยานฯ หมอชี้ ส่งผลเสียหนัก กวางกินขี้แมวไม่ท้องเลย 6 เดือน

วันที่ 17 ธันวาคม นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดยาวของทุกปี อุทยานแห่งชาติหลายแห่งยังมีปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวแอบลักลอบเอาสัตว์เลี้ยงเข้าไปในอุทยานฯโดยเฉพาะ สุนัข และแมว ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเชื้อโรคจากสัตว์บ้านเข้าไปติดสัตว์ในป่า จะเป็นปัญหาใหญ่และแก้ไขยากมาก จึงต้องขอร้องสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติแต่ติดภาระที่ต้องดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรักของตัวเองนั้น ควรเอาสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นไปฝากโรงแรมที่รับฝากเลี้ยงสุนัข และแมวจะดีกว่าแอบเอาเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ

“การเอาสัตว์เลี้ยงเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาตินั้นมีผล 2 อย่างคือ สัตว์เลี้ยงของท่านอาจจะเอาเชื้อโรคเข้าไปติดสัตว์ในป่าได้ อีกอย่างคือ สัตว์ของท่านเองอาจจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ป่าและเป็นอันตรายได้เช่นกัน เรื่องนี้มีตัวอย่างที่เคยเกิดผลกระทบชัดเจนมาแล้ว คือ ก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวเคยเอาเนื้อหมูดิบๆเข้าไปแอบปรุงอาหารในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปรากฏว่า เนื้อหมูดิบที่เอาเข้าไปนั้นมีเชื้อโรค มีการทิ้งเศษเนื้อหมูบางส่วนในถังขยะ แล้วมีหมูป่ามาคุ้ยเขี่ยถังขยะและกินเศษหมูดิบเข้าไป จนป่วยติดโรคตายจำนวนมาก และมีเสือมากินหมูที่ติดเชื้อโรคนั้นเข้าไป ทำให้เสือตายด้วย เราไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้ซ้ำขึ้นมาอีก”นายทรงธรรม กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ตามมาตรา 16 แห่ง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ห้ามนำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า แม้จะมีการห้าม มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจอยู่บริเวณหน้าประตูทางเข้าอุทยานฯ แต่ก็ยังมีคนลักลอบเอาสุนัขตัวเล็กๆ และแมวเข้าไปในอุทยานแห่งชาติจนได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งหากเจ้าหน้าที่จับได้ก็จะต้องถูกเชิญให้ออกจากพื้นที่ทันที หรือจะแนะนำให้เอาไปฝากไว้กับกรงขังที่อยู่ด้านหน้าทางเข้าอุทยานฯมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้อย่างดี

Advertisement

“แต่ไม่ค่อยมีใครยอมเอาสัตว์เลี้ยงฝากไว้กับเราหรอก จะเลือกที่จะแอบเอาเข้าไปมากกว่าซึ่งถือเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศน์ อย่างที่กล่าวมากแล้ว ผมคิดว่าในเมื่อมีคนรักสัตว์มากอยากให้สัตว์เลี้ยงของตัวเองอยู่ใกล้ๆแม้กระทั่งตอนที่ตัวเองไปเที่ยวไกลบ้านในช่วงวันหยุดเร็วๆนี้ผมคิดว่า ที่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่หลายๆที่น่าจะมีโรงแรมสำหรับรับฝากสัตว์เลี้ยงแสนรักของนักท่องเที่ยว มาเปิดบริการรับฝากสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เจ้าของเข้าไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติได้อย่างสบายใจ คิดว่าธุรกิจประเภทนี้น่าจะไปได้สวย”นายทรงธรรม กล่าว

นายสัตวแพทย์(นสพ.)ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าวว่า การเอาสัตว์เลี้ยงเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ นอกจากสัตว์เหล่านั้นจะรบกวนนักท่องเที่ยวคนอื่นแล้ว เช่น ส่งเสียงร้อง ส่งเสียงเห่าให้เดือดร้อนรำคาญแล้ว การที่สัตว์ไปขี้ทิ้งเอาไว้ เชื้อโรคในขี้สัตว์เลี้ยงจะทำให้สัตว์ป่าได้รับเชื้อโรคที่อยู่ในขี้ของสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นด้วย

“โดยปกติแล้ว หากเชื้อโรคอยู่กับสัตว์เลี้ยงของท่าน อาจจะไม่แสดงอาการป่วยออกมา หรือ เชื้อโรคที่อยู่ในสัตว์ป่า สัตว์ป่าก็ไม่แสดงอาการของโรคออกมา แต่เมื่อไหร่ที่เชื้อโรคเกิดการครอส กันขึ้นอาจจะส่งผลร้ายแรงทั้งกับสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่าได้ ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งมีคนเอาแมวไปเลี้ยง และแมวบ้าน กับกวางอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ผ่านไป 6 เดือน ปรากฏว่า กวางที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีสุขภาพอ่อนแอ ผอมลง อย่างเห็นได้ชัด และไม่ปรากฏว่ามีการตั้งท้องของกวางเลย รวมทั้งตัวเจ้าของแมวเองก็ไม่มีการตั้งท้องด้วย ทั้งๆที่มีสุขภาพแข็งแรง และอยากมีลูกมาก ได้ไปเก็บตัวอย่างขี้แมว และตัวอย่างเลือดกวางมาตรวจดูพบว่ามีเชื้อ ท็อคโส พลาสมา(toxo plasma) ที่ก่อให้เกิดโรค ท็อคโส เมสิส(toxo plasmosis) คือ โรคที่ติดต่อจากกิน เชื้อโรคจะอยู่ในขี้แมว ที่ขับถ่ายเอาไว้ แล้วกวางก็ไปกินหญ้าที่ติดขี้แมว ก่อให้เกิดโรค และคาดว่า แมวเองก็ติดเชื้อบางอย่างจากกวาง และนำไปสู่คนเลี้ยงด้วย ไม่ปรากฏว่ามีใครตั้งท้องในช่วงเวลาดังกล่าว”นสพ.ภัทรพล กล่าว และว่า หลังจากมีการสืบทราบโรคแล้ว เอาแมวออกจากพื้นที่ดังกล่าว ผ่านไประยะหนึ่ง กวางก็เริ่มกลับมามีสุขภาพสมบูรณ์ตั้งท้องได้ตามปกติ เช่นเดียวกับคนในพื้นที่

นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน

นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานฯกล่าวว่า จึงขอความร่วมมือกับทุกคนว่าอย่าเอาสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เพราะผลเสียที่เกิดขึ้นนั้นร้ายแรงกว่าที่คิดเอาไว้มาก โดยในช่วงเวลานี้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติกันจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ทุกแห่งก็จะตรวจเข้มงวดเป็นกรณีพิเศษ

“แต่มีบางคนก็ยังมีความพยายามที่จะเอาสัตว์หลบๆเจ้าหน้าที่ เช่น เอาผ้าผิดสัตว์เอาไว้ เมื่อจะจ่ายเงินผ่านด่านตรวจ ก็แง้มประตูรถเพียงนิดเดียว หากเป็นแบบนี้อาจจะถือเป็นพิรุธ ซึ่งเจ้าหน้าที่หลายแห่งมักจะรู้ทัน ก็จะลองเรียกชื่อสัตว์แบบสุ่มๆ ทำเสียง จุ๊ จุ๊ เหมือนเรียกสัตว์เลี้ยง สุนัข ที่มีความคุ้นเคยกับคนก็จะส่งเสียงคราง หรือเสียงเห่าออกมา เราก็จะกักตัวเอาไว้ แต่หากตรวจที่ด่านไม่เจอ ไปเจอในเขตอุทยานเลย เจ้าของจะถูกปรับตัวละ 1 พันบาท และถูกเชิญให้ออกจากพื้นที่ทันที”นสพ.ภัทรพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image