ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ ครั้งแรกของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ประธานโครงการจัดตั้งโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์  แถลงข่าวเปิดตัวโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ว่า โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการเปิดหลักสูตรนี้ โดยได้มีการวางแผนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และฝึกอบบรมนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยโมแนช ประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้โรงเรียนดังกล่าวมีความสำคัญมาก เพราะจะมุ่งเน้นการผลิตนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่างจังหวัดและสถานพยาบาลที่ห่างไกล เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นการฝึกให้คนที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาหัดใช้เครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อทำการตรวจอัลตราซาวด์ได้ ก่อนที่จะใช้เทคโนโลยีด้านไอทีส่งภาพทางไกลมาให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการวินิจฉัย ซึ่งไม่ว่าแพทย์เอกซเรย์จะอยู่ที่ใดก็สามารถรับภาพจากนักอัลตราซาวด์ที่อยู่ในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารมาทำการวินิจฉัยได้

ศ.พญ.จิรพร กล่าวต่อว่า โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ จะมีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะแม่และเด็ก เพราะจะทำให้รู้ว่าขณะท้องนั้น เป็นท้องที่มีความเสี่ยงหรือไม่ รวมทั้งยังจะได้รู้ด้วยว่าทารกจะคลอดโดยเอาหัวหรือก้นออก ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กลงได้จึงถือว่าความสำคัญมาก อย่างไรก็ตามเครื่องอัลตราซาวด์ เป็นเครื่องที่มีขนาดเล็กสามารถพกพาไปไหนก็ได้ และความพิเศษนี้ก็จะทำให้เราสามารถไปตรวจในพื้นที่ไหนก็ได้และส่งภาพมาให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย ซึ่งจะทำให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ดีได้ ส่วนการเลือกทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโมแนช ประเทศออสเตรเลียนั้น เพราะมหาวิทยาลัยโมแนช เป็นประเทศที่เปิดทำการสอนด้านนี้มานาน พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับเรา และมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก

สำหรับโรงเรียนนักอัลตราซาวนด์ทางการแพทย์  อยู่ที่ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่ประมาณ 780 ตารางเมตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image