ปีใหม่เข้ม ‘ด่านชุมชน’ ทั่วประเทศ สกัดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุบนถนน

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.ให้ความสำคัญกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับบ้านหรือท่องเที่ยวฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2560 ต้อนรับปีใหม่ 2561 ซึ่งมีการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงปกติ และทุกปีที่ผ่านมาก็เกิดอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตจำนวนมากตามมาเช่นกัน ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่ใช้เข็มขัดนิรภัย ดื่มสุราแล้วขับรถ การขับรถเร็ว และง่วงหรือหลับใน เป็นต้น

จากข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พบว่าในช่วงดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุ 3,919 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 478 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4,128 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ทุกรายการ นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดการบาดเจ็บมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 80 และหากชนกับรถกระบะ (ปิกอัพ) หรือเกิดเหตุบนถนนทางหลวง ก็มีโอกาสเสียชีวิตสูงสุด ส่วนอายุที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อายุ 15-19 ปี ร้อยละ 23.10 รองลงมา อายุ 20-24 ปี ร้อยละ 15.60 โดยเวลาที่เกิดเหตุสูงสุด คือ 16.00–21.00 น.

นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงการเตรียมการในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่า กรมควบคุมโรค มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทุกแห่งทั่วประเทศ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ดำเนินการเข้มข้นในการตรวจเตือน ตรวจจับ ประชาสัมพันธ์ และการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ.2555 ทั้งในช่วงก่อนเทศกาลและในช่วงเทศกาล

“กรมควบคุมโรคมีข้อเสนอให้มีการจัดการด่านชุมชน ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงดังกล่าว โดยสกัดกั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งเมาสุรา ไม่สวมหมวกนิรภัย และเตือนให้ปฏิบัติตามกฎจราจร ทั้งบนถนนชนบทและก่อนออกสู่ถนนทางหลวง มาตรการด่านชุมชนนี้เน้นเข้มงวดในกลุ่มจักรยานยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 15-24 ปี ที่สัญจรในช่วงเย็นถึงค่ำ หรือเวลา 16.00-21.00 น. เพราะในกลุ่มรถจักรยานยนต์เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วจะมีความรุนแรงมากกว่ายานพาหนะอื่นๆ โดยเน้นสกัดเยาวชนที่ถือว่าเป็นนักขับมือใหม่ ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทั้งเมาสุรา ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร และที่สำคัญเยาวชนส่วนใหญ่ไม่มีใบขับขี่ยานพาหนะ โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำว่า 15 ปี ที่ยังไม่สามารถทำใบขับขี่ได้ การให้เด็กต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่ยานพาหนะก็เท่ากับส่งบุตรหลานไปเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและสร้างความสูญเสียแก่ครอบครัว” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image