‘เจ้าหน้าที่สาธารณสุข- อสม.’ แนะประชาชนดูแลสุขภาพไม่ก๊งแก้หนาว

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ฤดูหนาวในปีนี้ มีอากาศหนาวเย็นมากและนานกว่าปีที่ผ่านมา ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ และเด็กเล็กที่จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น และให้ทีมหมอครอบครัวเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง แนะนำการดูแลร่างกายให้แข็งแรง ทำให้ร่างกายอบอุ่น ใส่เสื้อผ้าหลายๆ ชั้น ถุงเท้า ห่มผ้าห่ม ไม่นอนในที่โล่งแจ้ง และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก้หนาว หากเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง

นพ.เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ความหนาวเย็นที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปีนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนจากอากาศร้อนเข้าสู่อากาศเย็นอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ทำให้ร่างกายกลุ่มเสี่ยงอาจปรับตัวไม่ทันและอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งในช่วงฤดูหนาวปีที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็น 15 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และร้อยละ 60 มีสาเหตุจากการดื่มสุรา และเมาหลับในที่โล่งแจ้ง เช่น ใต้ถุนบ้าน หรือนอนหลับโดยไม่ห่มผ้า ไม่มีเครื่องกันหนาวเพียงพอ ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.แนะนำประชาชนให้ระวังการดื่มสุราหน้าหนาว ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบในช่วงฤดูหนาวทุกปี เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น แต่จะรู้สึกร้อนวูบวาบจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ร่างกายจะสูญเสียความร้อนและน้ำออกทางผิวหนัง อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง หากดื่มจนเมาหลับไปโดยไม่ได้ดูแลร่างกายอบอุ่นอย่างเพียงพอ อาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ หรือจากอาการน็อคเมื่อเลิกดื่มเหล้าแล้วเจอกับอากาศที่หนาวเย็น ทำให้เส้นเลือดหดตัวอย่างรวดเร็ว หัวใจทำงานหนักในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เกิดอาการช็อค เสียชีวิตตามมาเช่นกัน

“นอกจากนี้ ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรค รวมทั้งให้คําแนะนําประชาชนในการดูแลสุขภาพอนามัย และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก หากประชาชนมีอาการไข้สูง ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที” นพ.เจษฎา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image