ประกันสังคมโต้กลับ “โรคช่องปาก”รักษาได้ตามสิทธิ แตกต่าง “อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน”

กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ภายหลังกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกมาเปิดเผยผลกระทบจากระบบการเบิกจ่ายเงินสิทธิทันตกรรมของสำนักงานประกันสังคม โดยเฉพาะการสำรองจ่ายในวงเงินจำกัด ส่งผลให้ผู้ประกันตนหลายคนมีปัญหาการเบิกจ่าย บางคนถึงขั้นทนปวดฟันหลายปี จนอาการลุกลามนั้น

ล่าสุด นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพระบุว่า มีผู้ประกันตนร้องเรียนปัญหาการเข้ารับบริการด้านทันตกรรมในบริการพื้นฐาน คือ อุดฟัน ถอนฟัน และขูดหินปูน เพราะ สปส.มีวงเงินรักษาเพียงปีละ 600 บาท และผู้ประกันตนต้องสำรองจ่าย อีกทั้งเมื่อพบปัญหาทางช่องปากอื่นๆ ก็กังวลว่าอาจต้องจ่ายเอง ว่า สปส.ครอบคลุมการรักษาทั้งหมด ไม่ว่าป่วยเป็นโรคอะไร รวมทั้งโรคทางช่องปาก เช่น โรคเหงือก มะเร็งช่องปาก ฯลฯ ด้วย เพราะถือเป็นการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ไม่ได้เหมารวมไปกับค่ารักษาทางทันตกรรมพื้นฐาน  และที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้ประกันตนร้องเรียนในเรื่องนี้ ยกเว้นร้องเรียนเรื่องวงเงินค่าบริการทันตกรรมพื้นฐานไม่เพียงพอ แต่การจะเพิ่มวงเงินเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาต้องพิจารณาจากเงินสมทบ และค่ารักษาพยาบาลด้านทันตกรรมของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งใช้เป็นพื้นฐานในการตั้งวงเงิน

“กรณีตัวอย่างที่มีผู้ประกันตน ปวดฟันเป็นระยะเวลานานแล้วไม่ไปรักษาเพราะไม่มีเงินสำรองจ่าย จนพบว่าป่วยเป็นมะเร็งช่องปากเสียชีวิตนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจผิดของผู้ประกันตน ว่าโรคทางช่องปากไม่อยู่ในสิทธิ  เพราะจริงๆ แล้วโรคทางช่องปาก สปส.ก็รักษาได้ เนื่องจากถือเป็นอาการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง” นายโกวิทกล่าว และว่า ส่วนกรณีที่จะให้ สปส.ปรับระบบการจ่ายเงินเป็นการจ่ายไปที่โรงพยาบาลแทน เพื่อผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายนั้น ก่อนหน้านี้ สปส.เคยให้ผู้ประกันตนไปรับบริการทันตกรรมที่โรงพยาบาลตามสิทธิโดยไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ผู้ประกันตนร้องว่าต้องรอคิวนาน และเดินทางไปใช้บริการที่สถานพยาบาลตามสิทธิไม่สะดวก สปส.จึงเปลี่ยนให้สามารถทำฟันที่ใดก็ได้ โดยให้สำรองจ่ายแล้วเบิกภายหลัง

ด้าน น.ส.ณัฐกานต์ กิจประสงค์ ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กรณีผู้ประกันตนรายหนึ่งทนปวดฟันจนอาการลุกลามเป็นมะเร็งช่องปาก เลขาธิการ สปส.อาจไม่ทราบเรื่อง แต่ในคณะกรรมการ (บอร์ด) สปส.ทราบเรื่องนี้ดี เพราะ น.ส.อรุณี ศรีโต หนึ่งในบอร์ด สปส.นำเข้าหารือในบอร์ด สปส.ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง

Advertisement

“เสนอให้ระบบทันตกรรมเข้าไปอยู่ในการบริการรักษาทั่วไป เพื่อไม่ต้องให้ผู้ประกันตนสำรองจ่าย โดยคลินิกเอกชน หรือโรงพยาบาลเอกชน ให้บริการรักษาไปก่อน และไปเบิกเงินจาก สปส.ในภายหลัง” น.ส.ณัฐกานต์กล่าว และว่า ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ระหว่างประสานขอความร่วมมือกับคลินิกเอกชนในแต่ละพื้นที่ให้คิดราคากลาง ในการให้บริการทันตกรรมแก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นวิธีที่ สปส.จะลดปัญหาการรอคิวที่โรงพยาบาล

นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการการแพทย์ บอร์ด สปส.กล่าวว่า ควรทำข้อเสนอส่งให้ สปส.พิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image