ผู้เชี่ยวชาญไวรัสเร่งหาสาเหตุ ‘ผู้ใหญ่’ ติดเชื้อ ‘โรต้า’ ห่วงอาการรุนแรงขึ้น เฝ้าระวังกทม.-ปริมณฑล

เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับโรคอุจจาระร่วง จากกรณีการพบการป่วยโรคอุจจาระร่วง หรือท้องเสียจากเชื้อโรตาไวรัสในผู้ใหญ่ ซึ่งมี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค สธ.เป็นประธาน ซึ่งใช้เวลาในการประชุมมากกว่า 2 ชั่วโมง
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ เปิดเผยว่า โดยปกติแล้วโรตาไวรัสจะพบในเด็กเล็ก ไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่ เนื่องจากเมื่อเด็กเป็นแล้วก็จะมีภูมิต้านทาน ไม่ค่อยอุจจาระร่วงจากเชื้อตัวนี้ หรือหากติดเชื้อก็จะเป็นแบบอ่อนๆ แต่ช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นมกราคม 2561 พบการป่วยในผู้ใหญ่มากขึ้นและค่อนข้างรุนแรง จนถึงกับต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งจากการติดตามจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) หลายแห่ง ก็ชัดเจนว่าพบการติดเชื้อโรตาไวรัสในผู้ใหญ่จริง และมีอาการรุนแรงกว่าเดิม คือ ถ่ายบ่อย ถ่ายมาก พะอืดพะอม มีไข้ อ่อนเพลียมาก จากที่คิดว่าไม่ต้องเข้านอนโรงพยาบาล เพราะเชื้อนี้ก็ต้องเข้ามานอนโรงพยาบาลหลายวัน อย่างไรก็ตาม แม้จะรุนแรงแต่การรักษาในโรงพยาบาลไม่ทำให้เสียชีวิต หากเข้าใจโรคนี้พอสมควร

“จากประเด็นเหล่านี้ ทำให้ต้องศึกษาว่า การระบาดเป็นอย่างไร และอะไรที่เป็นสาเหตุให้ผู้ใหญ่ติดเชื้อไวรัสนี้มากขึ้น หรือเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดยังต้องศึกษาค้นคว้า ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวและว่า สำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วง ยังคงย้ำว่าให้ดูแลสุขอนามัยให้ดี ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร จะช่วยลดการติดเชื้อและป้องกันได้ และหากมีอาการก็ให้รับประทานยาบรรเทาอาการ ไม่จำเป็นต้องซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทาน เพราะปัจจุบันไม่มียาฆ่าเชื้อ และให้รับประทานเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ซึ่งหากเป็นมากหรือมีอาการพะอืดพะอมมากจนทำให้รับประทานไม่ได้ ควรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือ เพราะหากขาดน้ำมากอาจทำให้เกิดการช็อกได้ ซึ่งหากเป็นไม่มากก็ให้ทางปาก แต่หากเป็นมากก็จะให้ทางเส้นเลือด

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบว่าอาหารตัวใดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ จึงเชื่อว่าอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อในระบบธรรมชาติ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบทั้งอาหาร น้ำ สุขาภิบาลต่างๆ เป็นต้น และจะหาคำตอบให้รวดเร็วที่สุด เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจ นอกจากนี้ จะสื่อสารไปยังกลุ่มแพทย์ที่ดูแลคนไข้ให้ระวังในเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงสถานพยาบาล ชุมชน โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า สถานที่สาธารณะต่างๆ ให้มีการทำความสะอาดมากขึ้น

นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า จากการติดตามช่วงเดือนตุลาคม 2560 – มกราคม 2561 พบว่าในผู้ใหญ่มีอัตราป่วยอุจจาระร่วงเฉียบพลันสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี และสังเกตพบว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอมมาก ทำให้กินเกลือแร่ไม่ได้ ทำให้รู้ว่าโรคมีความรุนแรง จนต้องมานอนรักษาในโรงพยาบาล จึงตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสโรต้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมือง เช่น กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ จ.ชลบุรี ฯลฯ ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยาและสำนักโรคติดต่อทั่วไปติดตามเรื่องนี้แล้ว โดยส่วนใหญ่พบในวัยทำงาน อายุ 30-50 ปี แต่เมื่อเทียบกับการติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังถือว่าน้อย เฉลี่ยร้อยละ 10 แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนในต่างประเทศมีการพบรายงานอุจจาระร่วงในผู้ใหญ่จากเชื้อโรต้าเช่นกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image