กทม.จับมือ คพ.-ทีอีไอ.-GIZ นำร่อง ‘ปทุมวัน’ เขตอากาศสะอาด

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย(ทีอีไอ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) จัดสัมมนาวิชาการ “โครงการนำร่องเขตอากาศสะอาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน (Workshop on Pilot Low-emission Zone in Downtown Bangkok Project) โดยมี นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ปลัดกทม. นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีคพ. นส.อำไพ หรคุณารักษ์ ผู้อำนวยการ ทีอีไอ. ร่วมกล่าวเปิดงาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสัมมนากว่า 70 คน

นางสุวรรณา กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจราว 2.3 แสนคน ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุของการป่วยมาจากมลพิษทางอากาศจากสภาพจราจรที่หนาแน่นบนถนน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน กทม.จึงร่วมกับคพ.และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมสัมมนาวิชาการะหว่างวันที่ 17-19 มกราคมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการกำหนดเขตอากาศสะอาดในพื้นที่ชุมชนเมืองและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดยกำหนดโครงการนำร่องเขตอากาศสะอาดในพื้นที่เขตปทุมวัน เนื่องจากมีปัญหาการจราจรติดขัดมาก เร่ิมจากบริเวณแยกสามย่าน-แยกปทุมวัน ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ภายใต้ 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 2.เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจากแหล่งกำเนิด อาทิ ยานพาหนะ สถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ 3.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่ได้มาตรฐานและก่อมลพิษ 4.สร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด 5.กทม.เพิ่มรอบความถี่ในการทำความสะอาดถนน และ 6.การจัดการจราจร

“ภาพรวมการจัดการฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา กทม.สามารถควบคุมฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนและขนาด 10 ไมครอนได้ต่ำกว่า หรืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานกำหนด แต่ตอนนี้หน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ สำนักสิ่งแวดล้อม พบความเข้มข้นของฝุ่นละอองในอากาศขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งมีกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ส่วนนี้กทม.มีแผนการจัดการคุณภาพอากาศระหว่างปี 2560-2564 ตั้งเป้าลดและควบคุมฝุ่นละอองขนาดเล็กให้อยู่ในเกณฑ์หรือต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เริ่มนำร่องในถนนสายหลัก โดยประชาชนสามารถเข้ามีส่วนร่วมในโครงการได้ อาทิ ร่วมปลูกต้นไม้ หันมาใช้รถขนส่งมวลสาธารณะ เป็นต้น”

ด้านรองอธิบดี คพ. กล่าวว่า พบว่าเขตพื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในและเป็นพื้นที่ที่มียวดยานพาหนะมาก โดยพื้นที่เขตต้องระมัดระวังและจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ เขตดินแดง เขตลาดพร้าว เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท และเขตปทุมวัน ขณะที่พื้นที่รอบนอก มีมลพิษทางอากาศเป็นบางช่วง เกิดจากการแผ่วถางป่าและวัสดุการเกษตรในพื้นที่โล่ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image