‘จรินทร์’ ยันบอร์ดชุดที่19 ไม่ทบทวน ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ ชี้เหมาะสมแล้ว เตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 เปิดเผยว่า ล่าสุดได้นำผลการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 เสนอ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน พิจารณาเพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า หลังจากเมื่อวันที่ 17 มกราคม บอร์ดค่าจ้างได้มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าอัตราดังกล่าวเป็นไปอย่างเหมาะสม และยืนยันว่าจะไม่มีการทบทวนอีก เพราะถือเป็นฉันทามติร่วมกันจากทุกฝ่าย

“ส่วนข้อท้วงติงจากกลุ่มแรงงานว่า กลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ 308 บาท ไม่เหมาะสมนั้น ในที่ประชุมรับฟังหลักเกณฑ์จากทุกภาคส่วน ได้มีข้อเสนอและความคิดเห็นอย่างหลากหลาย จนท้ายสุดที่ประชุมมีมติยืนยันปรับตัวเลขในอัตราดังกล่าว สำหรับหลักเกณฑ์ ได้ใช้สูตรคำนวณจากตัวชี้วัดทางปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ พื้นที่ทางเศรษฐกิจ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ อัตราจ่างที่ลูกจ้างได้รับ ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการ โดยลูกจ้างจะต้องได้รับค่าจ้างอย่างเหมาะสมและสามารถอยู่ได้ และต้องสอดคล้องสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน” นายจรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ นายจรินทร์ กล่าวถึงเหตุผลที่ประชุมขอให้ค่าจ้างอัตราใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2561 ว่า เนื่องจากเป็นข้อตกลงในที่ประชุม โดยสาเหตุ 1.หลังมีมติและข้อสรุปการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 แล้ว จำเป็นต้องนำมาตรการต่างๆ ที่ได้กำหนด อาทิ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถใช้ค่าจ้างแรงงานลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า เสนอไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนนี้ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ ขณะเดียวกัน 2.ในเรื่องประกันสังคมจำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เพื่อดำเนินการ และ 3.ต้องให้เวลานายจ้างหรือผู้ประกอบการได้มีเวลาเตรียมตัว เพื่อดำเนินการปรับคาจ้างอัตราใหม่ ทั้งหมดจึงมีผลบังคับใช้ในวันดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เครือข่ายแรงงานยังมีความกังวลว่าการปรับค่าจ้างจะกระทบต่อกลุ่มเอสเอ็มอี นายจรินทร์ กล่าวว่า เดิมรัฐบาลได้มีแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีมากอยู่แล้ว อาทิ มาตรการทางการเงิน ขณะเดียวกัน มองว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จำเป็นต้องได้รับมาตรการช่วยเหลือเช่นเดียวกัน เพื่อให้ทุกกลุ่มสามารถอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นในสังคมเป็นเรื่องที่ดี จำเป็นต้องรับฟัง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาครั้งต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image