ย้อนรอย ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ แต่งตั้ง 9 ครั้ง เลือกตั้ง 10 ครั้ง ก่อน ‘อัศวิน’ ประกาศลงสนาม

พลันที่ ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แย้มไต๋ว่าอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยหน้าหรือไม่ และหากตัดสินใจลงเล่นการเมืองท้องถิ่นจริง จะลงแบบ ‘วันแมนโชว์’ ไม่สังกัดพรรคการเมือง

ย้อนไปถึงประวัติศาสตร์การครองเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.หากไม่นับรวมผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการแต่งตั้ง มีเพียงไม่กี่พรรคการเมือง และมีบางจังหวะที่ผู้สมัครอิสระได้ครองเก้าอี้

ไล่เลียงตั้งแต่ปี 2516 ผู้ว่าฯ กทม.เป็นข้าราชการการเมืองที่มาจากแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ วันที่ 1 มกราคม แต่งตั้ง’นายชำนาญ ยุวบูรณ์’ วันที่ 1 พฤศจิกายน แต่งตั้ง ‘นายอรรถ วิสูตรโยธาภิบาล’ วันที่ 5 มิถุนายน 2517 แต่งตั้ง ‘นายศิริ สันติบุตร’ วันที่ 29 พฤษภาคม 2518 แต่งตั้ง ‘นายสาย หุตะเจริญ’

ต่อมาในปี 2518 มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และอยู่ในตำแหน่งตามวาระ 4 ปี โดย วันที่ 10 สิงหาคม 2518 ‘นายธรรมนูญ เทียนเงิน’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรก ด้วยคะแนนเสียง 99,247 คะแนน ขณะนั้นมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพียงร้อยละ 13.86

Advertisement

การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้สมัครที่น่าสนใจคือ ‘ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์’ หัวหน้ากองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่เพิ่งลาออกมาเข้าสู่วงการเมืองเป็นครั้งแรกในนาม ‘พรรคพลังใหม่’ และในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้รับคะแนนเสียงในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในเป็นจำนวนมาก แต่พ่ายแพ้คะแนนในเขตชั้นนอก เช่น หนองแขม มีนบุรี ซึ่งมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์โดยรวมสูงถึงร้อยละ 80 ทำให้ นายธรรมนูญ เทียนเงิน ชนะเลือกตั้ง แต่นายธรรมนูญไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จนครบวาระ 4 ปี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ วันที่ 29 เมษายน 2520 ‘นายธานินทร์ กรัยวิเชียร’ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น จึงตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 21 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ปลดนายธรรมนูญออกจากตำแหน่ง และให้กลับไปใช้รูปแบบการแต่งตั้งเช่นเดิม

นับจากเหตุการณ์ปลดนายธรรมนูญ ในปี 2520 กทม.มีผู้ว่าฯ กทม.จากการแต่งตั้งอีก 4 คน คือ วันที่ 29 เมษายน 2520 ‘นายชลอ ธรรมศิริ’ วันที่ 4 กรกฎาคม 2522 ‘นายเชาวน์วัศ สุดลาภา’ วันที่ 28 เมษายน 2524 ‘พล.ร.อ.เทียม มกรานนท์’ และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2527 ‘นายอาษา เมฆสวรรค์’

กระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 กำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง จึงเกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่ 2 ในปี 2528

Advertisement

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 ‘พล.ต.จำลอง ศรีเมือง’ จาก ‘กลุ่มรวมพลัง’ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ด้วยคะแนนเสียง 408,237 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 34.65 และอยู่จนครบวาระ

วันที่ 7 มกราคม 2533 พล.ต.จำลอง ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้งในนาม ‘พรรคพลังธรรม’ ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 703,672 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 35.85 ครั้งนั้นมีผู้สมัครอิสระคือ ‘นายนิยม ปุราคำ’ อดีตเลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ ‘นายวรัญชัย โชคชนะ’ นักเคลื่อนไหว ที่ได้รับคะแนนสูงกว่า 10,000 คะแนน แต่รอบนี้ พล.ต.จำลอง อยู่ไม่ครบวาระ ลาออกไปเล่นการเมืองระดับชาติ

วันที่ 19 เมษายน 2535 ‘ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา’ รองผู้ว่าฯ กทม.ในสมัย พล.ต.จำลอง จึงลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แทน โดยไม่สังกัดกลุ่มใด แต่ยังอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ พล.ต.จำลอง ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 363,668 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเพียงร้อยละ 23.02 และครั้งนี้ มี ‘ดร.พิจิตต รัตตกุล’ ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยในนาม ‘พรรคประชาธิปัตย์’ แต่ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ ร.อ.กฤษฎา

วันที่ 3 มิถุนายน 2539 ดร.พิจิตต รัตตกุล ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่สังกัดพรรค ใช้ชื่อ ‘กลุ่มมดงาน’ ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 768,994 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 43.53 และการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมากถึง 29 คน โดยมีอดีตผู้ว่าฯ กทม. 2 คน ที่ลงชิงเก้าอี้ด้วย คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ครั้งนี้ ดร.พิจิตต ที่เคยพ่ายแพ้ ได้คะแนนมากกว่า พล.ต.จำลอง กว่า 2 แสนคะแนน และมากกว่า ร.อ.กฤษฎา กว่า 5 แสนคะแนน ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าทั้ง พล.ต.จำลอง และ ร.อ.กฤษฎา ลงแข่งตัดคะแนนกันเอง ทำให้ ดร.พิจิตต ชนะการเลือกตั้ง

วันที่ 23 กรกฎาคม 2543 ‘นายสมัคร สุนทรเวช’ อดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย ลงชิงเก้าอี้ ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถึงร้อยละ 58.87 และอยู่จนครบ 4 ปี

วันที่ 29 สิงหาคม 2547 ‘นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาล ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ด้วยคะแนนเสียง 911,441 คะแนน ชนะคู่แข่งคือ ‘นางปวีณา หงสกุล’ ผู้สมัครอิสระ ที่มี ‘พรรคไทยรักไทย’ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้นสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ได้รับคะแนนเสียงไป 619,039 คะแนน

ขณะที่ผู้สมัครคนอื่นๆ ที่โดดเด่น น่าสนใจ อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ ดร.พิจิตต รัตตกุล ดร.มานะ มหาสุวีระชัย ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ นายพีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธุ์ นางลีนา จัง ฯลฯ

โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เข้าไปมีบทบาทดูแลการเลือกตั้ง ทั้ง กกต.กลาง และ กกต.กทม. จากเดิมเป็นหน้าที่ของปลัดกรุงเทพมหานคร และกำหนดกติกาของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาทิ ผู้สมัครต้องจ่ายเงินค่าสมัครเพิ่มขึ้นจากเดิม 5,000 บาท เป็น 50,000 บาท กำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร จากที่เคยกำหนดให้มีภูมิลำเนาในเขตกรุงเทพฯ ไม่น้อยกว่า 180 วัน เพิ่มเป็นต้องมีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ไม่น้อยกว่า 1 ปี หน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากเดิม 5,869 หน่วย ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ห้ามผู้สมัครกระทำ จัดทำ ให้ โฆษณา จัดเลี้ยง หลอกลวง ก่อน กกต. ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน หากพบว่ามีการฝ่าฝืน กกต.จะให้ใบแดง แต่หากตรวจหลักฐานคลุมเครือ และมีเหตุอันน่าเชื่อถือจะให้ใบเหลือง การนับคะแนน จากที่เคยนับที่หน่วยเลือกตั้ง และส่งคะแนนให้ศาลาว่าการ กทม.ประกาศผล เปลี่ยนเป็นนับรวมที่เขตปกครอง แล้วนำผลแต่ละเขตไปรวมที่ศาลาว่าการ กทม. เพื่อประกาศผล จากนั้นจึงส่งผลคะแนนให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ การประกาศผลการเลือกตั้ง จากเดิมเป็นหน้าที่ปลัด กทม.ต้องให้ กกต.กลางประกาศผลอย่างเป็นทางการ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละคน เดิมประเมินให้คนละไม่เกิน 21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 37 ล้านบาท

วันที่ 5 ตุลาคม 2551 ‘นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน’ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง ด้วยคะแนนเสียง 991,018 คะแนน แต่อยู่ไม่ครบวาระ เพราะลาออกหลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง

วันที่ 11 มกราคม 2552 ‘ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนเสียง 934,602 คะแนน และประกาศลาออกก่อนครบวาระ 4 ปี เพียง 1 วัน เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

วันที่ 3 มีนาคม 2556 ‘ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร’ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับคู่แข่ง คือ ‘พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ’ ที่ได้ 1,077,899 คะแนน มาเป็นอันดับที่ 2 ทำลายสถิติของนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2543 ทั้งคู่ อีกทั้งสถิติของผู้ใช้สิทธิทั้งหมดยังสูงถึงร้อยละ 63.38 นับว่ามากที่สุดกว่าครั้งไหนๆ

แต่ยังไม่ทันที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะอยู่จนครบวาระในสมัยที่ 2 ก็ต้องพบวิบากกรรมกับข้อครหาทุจริตโครงการติดตั้งอุโมงค์ไฟ กทม.วันที่ 25 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 50/2559 ให้พักงาน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.โดยไม่พ้นจากตำแหน่ง และต่อมา วันที่ 18 ตุลาคม 2559 ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้พ้นจากตำแหน่ง และวันเดียวกัน มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.โดยกำหนดให้ดำรงตำแหน่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือ คสช.มีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งถัดไป ใครจะไป ใครจะมา ต้องติดตาม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image