ถึงกับสตั๊นท์! กิน ‘แซลมอน’ เจอพยาธิ หมอแนะหลีกเลี่ยง ‘ซูชิ-ซาซิมิ’ ตลาดนัด ไม่ผ่านเกณฑ์ FDA

ภาพมติชน

จากกรณีเว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า พบชายชาวแคลิฟอร์เนีย ผู้ที่มีพฤติกรรมชอบกินแซลมอนดิบต้องเดินทางไปโรงพยาบาล หลังพยาธิตัวตืดยาวกว่า 5 ฟุตหลุดออกจากก้นขณะถ่ายหนัก โดยชายรายดังกล่าวมีอาการท้องร่วงและถ่ายเป็นเลือด โดยระหว่างถ่ายได้มองลงไปเห็นสิ่งที่คิดว่าจะเป็นลำไส้ของตัวเองห้อยออกมาจากก้น ชายรายนี้ตัดสินใจดึงวัตถุดังกล่าวออกมาก่อนพบว่ามันสามารถเคลื่อนไหวได้ จึงรู้ว่าเป็นพยาธิ

Cr.Dr.Kenny Banh/This Won’t Hurt A Bit

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม ปี 2560 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ออกแถลงการณ์เตือนความเสี่ยงที่จะพบตัวอ่อนพยาธิที่อาจเติบโตเป็นพยาธิตัวตืดได้ในแซลมอนจากมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงปลาแซลมอนจากอลาสกา ที่เป็นที่นิยมในสหรัฐและหลายที่ในโลก โดยแนะนำว่าควรรับประทานแซลมอนปรุงสุก หรือหากเป็นแซลมอนสดก็ควรเป็นแซลมอนแช่แข็ง ขณะที่ตัวอ่อนสามารถอยู่รอดได้ในแซลมอนที่นำมาทำอาหารในแบบไม่ได้มาตรฐานและอาจนำตัวอ่อนพยาธิเข้าสู่ทางเดินอาหารของมนุษย์ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เป็นอย่างมากว่า ประเทศไทยจะพบกรณีเช่นนี้ด้วยหรือไม่ เนื่องจากคนไทยก็นิยมรับประทานแซลมอนดิบ ทั้งพวกซูชิและซาซิมิกันมาก  (Sushi & Sashimi)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ มติชน ถึงกรณีข้อกังวลเกี่ยวกับแซลมอนที่จำหน่ายในประเทศไทยว่า จริงๆ แล้วพยาธิตัวตืดมักพบในเนื้อหมู เนื้อวัวมากกว่า แต่ปลาแซลมอน หรือเนื้อปลาจะเป็นพยาธิตัวกลม ซึ่งหากจะรับประทานก็ต้องเลือกดีๆ โดยอาจต้องเลือกแซลมอนเกรดที่มีราคาสูงนิดหน่อย เพราะจะผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐาน อย่างต้องผ่านการแช่แข็งติดลบ 35 องศาเซลเซียสใน 12-15 ชั่วโมง หรือหากติดลบน้อยกว่านั้น เช่น แช่แข็งติดลบ 20 องศาเซลเซียสก็ต้องอยู่นานถึง 7 วัน เป็นต้น แต่ถ้าจะปลอดภัยที่สุดคือ ทำให้สุกที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส

Advertisement
นพ.นคร เปรมศรี

“หากกินอาหารที่มีพยาธิตัวกลมอยู่ ก็จะไปเกาะผนังลำไส้  ทำให้ปวดแน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ และหากเกาะนานๆ ก็จะกลายเป็นก้อนในทางเดินอาหารได้ ก็ต้องพบแพทย์เพื่อรักษา อย่างไรก็ตาม ที่ต้องระวังคือ ต้องเลือกปลาที่ดีๆ อย่างแซลมอนก็ต้องเลือกแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ซึ่งหากได้มาตรฐานก็จะต้องแช่แข็งให้ได้ตามเวลาที่กำหนด และเมื่อนำออกมาก็จะบรรจุในบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ แต่ที่วางขายกันตามตลาดนัดก็ต้องระวัง เนื่องจากเราไม่รู้แหล่งที่มา ไม่รู้กระบวนการผลิตว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ก็ย่อมมีความเสี่ยง และไม่ใช่แค่พยาธิ ยังมีโรคอื่นๆ เกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารอีกมากก็จะทำให้เสี่ยงไปหมด” นพ.นคร กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวอีกว่า  อย่างพยาธิตัวตืด พบมากในเนื้อหมู เนื้อวัด ที่เรียกกันว่า ตืดหมูตืดวัว เวลากินไม่สุก จะมีตัวไข่อยู่ในเนื้อหมูเนื้อวัว ทำให้เรารับพยาธิเหล่านี้ไปด้วย ซึ่งมักพบในคนที่ชอบกินอาหารไม่สุก แบบลาบลู่ ต้องระมัดระวังมาก  โดยพยาธิตัวตืดจะไปอยู่ที่กล้ามเนื้อ ทำให้ปวดกล้ามเนื้อ อักเสบเฉพาะที่ ที่ต้องระวังสุดคือ หากพยาธิไปอยู่ใกล้ระบบประสาท จะทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีอาการคล้ายลมชัก ซึ่งตัวเลขผู้ที่มีอาการนั้น ค่อนข้างบอกยาก เพราะจะพบเมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาล  อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ ป้องกันก่อนจะดีกว่า ไม่ควรรับประทานอาหารที่ไม่สุก หรือแม้แต่สุกๆดิบๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทราบได้อย่างไรว่าติดพยาธิตัวตืด นพ.นคร กล่าวว่า ตอบยาก เพราะการจะทราบต้องส่งตรวจอย่างเดียว แต่อาการเริ่มต้นก็จะมีตั้งแต่ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ทางที่ดีที่สุด คือ ป้องกันก่อนดีกว่า เพราะการมารักษาทีหลังก็มีความยาก แต่การป้องกันจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย โดยรับประทานอาหารปรุง สุก ใหม่ สะอาด  ซึ่งจะป้องกันโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้หมด

Advertisement

ด้าน ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม อาจารย์ประจำหลักสูตรพิษวิทยา และโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความนิยมรับประทานปลาแซลมอนดิบ อย่างซูชิหรือซาซิมินั้น ก็ต้องมีความระมัดระวังด้วย แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่แหล่งปลาแซลมอน แต่เรานำเข้ามาจากต่างประเทศ ก็ต้องดูที่กระบวนการเก็บปลาแซลมอนว่า เป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่ ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA  กำหนดว่าต้องผ่านการแช่แข็งติดลบอย่างน้อย 20 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 7 วัน หรือติดลบ 35 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15 ชั่วโมง ก่อนจะนำมาจำหน่าย และยังระบุข้อห้ามว่า หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากหากพบพยาธิปนเปื้อนอาจมีผลกระทบต่อเด็กทารกได้ เนื่องจากบางชนิดไม่ได้มีผลแค่อาการทางเดินอาหาร แต่ยังมีผลทำให้โลหิตจาง ทำให้ขาดวิตามินบี 1 ได้ด้วย

“ที่ต้องระมัดระวังคือ การเลือกซื้อปลาแซลมอนดิบมารับประทาน ทั้งแบบซูชิ และซาชิมิ หรือแม้แต่การไปร้านอาหารก็ตาม ก็ต้องเลือกแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะหากไม่ผ่านกระบวนการจัดเก็บที่เหมาะสมก็มีความเสี่ยงได้ ส่วนคนที่นิยมซื้อไปกินที่บ้านนั้น ก็ต้องบอกว่าควรรับประทานแบบทันที ไม่ควรเก็บข้ามวันจะดีที่สุด ยิ่งปัจจุบันตามตลาดนัด หรือตามร้านรวงเล็กๆมีขายซูชิเต็มไปหมด ราคาถูกชิ้นละ 7-10 บาท ก็ต้องระมัดระวังในการเลือกรับประทาน” ผศ.ทพญ.ดุลยพร  กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะป้องกันอย่างไร เพราะเราแทบไม่รู้ว่าผ่านกระบวนการเก็บแช่แข็งตามมาตรฐานหรือไม่ ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวว่า ก็ต้องเลือก และไม่ใช่ว่าจะกินทุกวัน เพราะราคาก็ค่อนข้างสูงและการกินบ่อยๆ ก็ไม่รู้จะเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนอีก  ซึ่งการจะป้องกันนั้น ควรยากที่จะบอกว่าเลือกแซลมอนนำเข้าจากประเทศไหน เนื่องจากปัจจุบันมีการนำเข้ามาเยอะ ทางที่ดีที่สุด ผู้บริโภคต้องพิจารณาและเลือกให้เหมาะสม และแม้ว่าจะนำแซลมอนมารมควัน ก็ไม่ได้ช่วยให้ฆ่าพยาธิได้เช่นกัน

ผศ.ทพญ.ดุลยพร ตราชูธรรม

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image