เมื่อวันที่ 25 มกราคม นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ตั้งข้อสังเกตภายในอาคารธานีนพรัตน์ หรืออาคารศาลาว่าการ กทม.2 มีฝุ่นละอองมากเสี่ยงต่อสุขภาพของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปปฎิบัติงาน ที่สำคัญยังพบว่ามีเชื้อลีจิโอเนลลาปะปนอยู่ในอากาศภายในอาคารด้วย ว่า สำหรับเชื้อลีจิโอเนลลา (Legionella Spp.) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณที่มีสาหร่าย เศษฟองน้ำ ฯลฯ โดยปกติมักพบบ่อยในระบบน้ำร้อน ระบบประปา และหอผึ่งน้ำ (Cooling tower) ในโรงแรม-ที่พัก โรงพยาบาล หรืออาคารสำนักสำนักงานต่างๆ ที่มีเครื่องปรับอากาศแบบรวม (Central Air-Conditioning System ) การทำความสะอาดทำได้ค่อนข้างยาก มักจำเป็นต้องจ้างบริษัทมาดำเนินการทำความสะอาดหอผึ่งน้ำ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อลีจิโอเนลลาระบาดขึ้น ทั้งนี้ในช่วง 5-10 ปี มีรายงานนักท่องเที่ยวติดเชื้อลีจิโอเนลลาในประเทศไทยปีละไม่เกิน 5 คน หลังเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย ใช้เวลาพักอาศัยตามที่พักหรือโรงแรมต่างๆ ที่มีเชื้อแบคทีเรียฝังตัวอยู่ ท้ายสุดกลับไปประเทศตนเองเกิดป่วยด้วยโรคลิจิแนร์ ส่วนคนไทยยังพบป่วยด้วยโรคลิจิแนร์ไม่มากนัก
นพ.เมธิพจน์ กล่าวว่า สำหรับอาการป่วยก่อให้เกิดได้ 2 ลักษณะ คือ ไข้ลิจิแนร์ มีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป มีอาการป่วย 2-5 วัน ไม่มีอันตรายถึงชีวิต และลิจิแนร์ที่มีอาการปอดอับเสบร่วมด้วย หรือเรียกว่า ไข้ปอนเตียก (Pontiac) เนื่องจากเชื้อลีโอจิเนลลา อาศัยมากับละอองน้ำขนาดเล็ก เมื่อสูดหายใจเข้า เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายไปสู่ถุงลมเกิดอาการปอดอักเสบ ขณะทำให้เลือดไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนในร่ายกายได้ ทำให้ออกซิเจนต่ำ มีอาการเหนื่อยหอบง่ายขึ้น ไข้ ไอแห้งและปวดศรีษะร่วมด้วย ระยะฟักตัวประมาณ 2-10 วัน หลังติดเชื้อ
นพ.เมธิพจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าการทำความสะอาดเพื่อป้องกันเชื้อลีจิโอเนลลาที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 สำนักอนามัย กทม.ได้เข้าดำเนินการเรียบแล้ว ด้วยการเติมคลอรีนช็อค และจากการตรวจประเมินครั้งล่าสุด ไม่พบเชื้อดังกล่าวในระบบท่อปรับอากาศแล้ว ดังนั้น ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สามารถอุ่นใจได้
นพ.เมธิพจน์ ยังกล่าวถึงวิธีป้องกันจากเชื้อลีจิโอเนลลาว่า แนะนำให้ทุกอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ หมั่นล้างทำความสะอาดของหอผึ่งเย็นเป็นประจำ ดูแลปริมาณของคลอรีนให้อยู่ในมาตรฐานกำหนดของการประปา ส่วนประชาชนทั่วไปหากอยู่ตามอาคารสำนักงานให้หลีกเลี่ยงอยู่ในตำแหน่งที่มีแอร์พ่นใส่หน้า เพราะเชื้ออาจแฝงตัวตามละอองน้ำของเครื่องปรับอากาศที่ระบายออกมา รวมถึงสวมใส่หน้ากากอนามัยก็สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโปร่งพอง ฯลฯ จะรับเชื้อได้ง่ายขึ้น และอันตรายถึงชีวิต
ผู้สื่อข่าวถามว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มักมีตึกเก่าหรืออาคารสำนักงานจำนวนมากจะเป็นแหล่งก่อเชื้อลีจิโอเนลลาหรือไม่ นพ.เมธิพจน์ กล่าวว่า อาคารเก่าหากไม่มีระบบปรับอากาศไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการก่อโรค หากอาคารนั้นรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ส่วนตามบ้านเรือนหรืออาคารอื่นที่มีเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กจะเพาะเชื้อได้น้อย อาจพบได้ในระบบทำความร้อนและระบบประปาที่มีอายุการใช้งานมานาน
เมื่อถามถึงว่า กรณีพบเชื้อราภายในลานจอดรถใต้ดินของอาคารธานีนพรัตน์ นพ.เมธิพจน์ กล่าวว่า เนื่องจากลานจอดรถยังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง แสงสว่างเข้าไม่ถึง ทำให้เกิดความชื้นสะสม และมีโอกาสจะเกิดเชื้อราและมีฝุ่นสะสมได้ ซึ่งผลกระทบต่อร่างกายจะเกิด หากบุคคลนั้นสูดดมเชื้อราเข้าไปโดยตรงหรืออาศัยอยู่บริเวณที่มีเชื้อราเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ส่วนบุคคลทั่วไป อาจมีการระคายเคืองจากฝุ่นได้โดยมีผื่นคันตามผิวหนัง หรือไอจาม นอกจากนี้ วิธีป้องกันเชื้อราในเบื้องต้น คือ ต้องเปิดอาคารให้แสงแดดหรืออากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นไม่ให้สะสมเพื่อป้องกันเชื้อรา ส่วนบริเวณใดที่มีเชื้อราให้ขูดทิ้งและทาสีกันเชื้อราทับพื้นที่นั้นได้