เครือข่ายงดเหล้ายื่นหนังสือ ‘ปิยะสกล’ ค้านร่างกม.ภาคธุรกิจ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์  นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข( สธ.) เป็นประธานเปิดงาน “1ทศวรรษ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” ว่า ในทศวรรษที่ 2 เป้าหมายระดับชาติยังคงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้  กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จึงต้องดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มแข็ง ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดความชุกของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยดำเนินงานร่วมกับชุมชนต้นแบบ ชมรมคนหัวใจเพชร พัฒนาระบบบำบัดสุรา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) โดยเฉพาะการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กและเยาวชน และพัฒนาอนุบัญญัติกฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้ครอบคลุมและทันสมัยต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของปัจจุบันและในอนาคต

“ที่ผ่านมาเรามีการทบทวนกฎหมายกันทุกๆ 5 ปี แต่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีกาปรับยุทธศาสตร์ทุกปี การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นพัฒนาไปไว้มาก ดังนั้นคนที่ดูแลการบังคับใช้กฎหมายต้องติดตามเป็นระยะและปรับนโยบายดูแลได้อย่างครอบคลุม” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย ประกาศกระทรวงเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการใช้โลโก้เดียวกันของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และประกาศเกี่ยวกับการควบคุมเรื่องตู้จำหน่ายเบียร์สดอัติโนมัติด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานดังกล่าว    ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯโดยธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.  ทั้งนี้ ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า  เท่าที่ทราบคือภาคธุรกิจน้ำเมามีการเสนอขอแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปยังคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายที่มี ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ซึ่งประเด็นสำคัญในการยื่นแก้ไขดังกล่าว คือ ให้มีการขยายเวลาการจำหน่าย เพราะภาคธุรกิจมองว่าให้เวลาน้อยเกินไป และการส่งเสริมการขายและการตลาด เพื่อให้สามารถเลี่ยงการโฆษณาและลดแลกแจกแถมได้

Advertisement

ภก.สงกรานต์  กล่าวอีกว่า 10 ปีของการมีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กฎหมายในเรื่องนี้ดีพอสมควรแม้จะไม่ดีเท่ากฎหมายในการควบคุมยาสูบ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังอนุญาตให้มีการโฆษณาได้ขณะที่ยาสูบห้ามไม่ให้มีการโฆษณาโดยเด็ดขาด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นช่องทางให้ภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังสามารถโฆษณาได้ และบางส่วนมีการพยายามเลี่ยงข้อกฎหมาย เช่น จดทะเบียนสินค้าตัวอื่นโดยใช้โลโก้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับสินค้าที่เป็นน้ำเมา

“สิ่งที่เครือข่ายฯต้องการคืออยากให้มีการแก้ไขกฎหมายให้ดีขึ้นไม่ใช่แย่ลง โดยเฉพาะปรับปรุงกฎหมาย โดยการห้ามไม่ให้มีการโฆษณาหรือส่งเสริมการขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงประชาชนได้ 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีที่เป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจ เนื่องจากหากทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ตั้งแต่อายุน้อย ก็จะกลายเป็นลูกค้าระยะยาวของธุรกิจ”ภก.สงกรานต์กล่าว

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายจะเกิดขึ้นหรือไม่ อยู่ที่ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เพียงอันตรายต่อร่างกายคนดื่มเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบปัญหาสังคมในมิติอื่นด้วย เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในสังคม และอุบัติเหตุบนถนนเป็นต้น ซึ่งแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 หมื่นคน ปัญหาเหล่านี้ก็จะเป็นรัฐบาลที่ต้องกลายเป็นผู้แก้ไข ทั้งนี้ เคยมีการศึกษาพบว่าภาษีของประเทศที่จัดเก็บได้จากธุรกิจแอลกอฮอล์ประมาณ  8 หมื่นล้านบาท แต่รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น 1.5 แสนล้านบาท  เท่ากับมีรายได้ 1 บาทแต่ต้องสูญเสียไป 2 บาท เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image