‘ชาวป้อมมหากาฬ’ เมินดูรื้อบ้านแลนด์มาร์ก เผยแค่ได้ยินเสียงน้ำตาก็ไหล

ความคืบหน้ากรณีการรื้อบ้านเลขที่ 99 บริเวณกลางชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในช่วงสายของวันที่ 8 กุมภาพันธ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินการรื้อถอนเป็นไปอย่างราบรื่นโดยมีเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (กอ.รมน.กทม.) ดูแลความสงบเรียบร้อย ในขณะที่ผู้ควบคุมการรื้อคือ ชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬที่สมัครใจย้ายออกไปก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของ กทม.แต่อย่างใด

Advertisement

สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไปในชุมชนซึ่งปัจจุบันหลงเหลือบ้านไม่ถึง 20 หลังคาเรือน ค่อนข้างเงียบ ไม่มีชาวบ้านจับกลุ่มพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยต่างทำกิจกรรมอยู่ในบ้านของตน และไม่ได้ออกมาสังเกตการณ์รื้อถอนบ้านหลังดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางรายนั่งร้องไห้อยู่เงียบๆ บางส่วนปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโดยระบุตนรู้สึกพูดไม่ออก

น.ส.สุภานัช ประจวบสุข อายุ 54 ปี ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า รู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก ไม่ขอออกไปดูการรื้อบ้าน เพราะแค่ได้ยินเสียงน้ำตาก็ไหล สิ่งที่กระทบใจอย่างยิ่งคือการที่ชาวบ้านที่ออกไปจากชุมชนแล้วกลับเป็นคนที่ย้อนกลับมารื้อถอนบ้านเอง

Advertisement

“เจ็บปวดมาก ไม่รู้จะอดทนได้อีกนานแค่ไหน พี่น้องที่เคยตกทุกข์ได้ยาก เคยต่อสู้มาด้วยกัน วันนี้กลับมารับรื้อบ้านในชุมชนเอง” น.ส.สุภานัชกล่าว

ด้านนางสมร อาปะนนท์ หรือ ป้าเฮง อายุ 76 ปี เจ้าของร้านขายของชำในชุมชน กล่าวว่า ทราบถึงการรื้อถอนบ้านแล้ว แต่ไม่ออกไปดูอย่างแน่นอน ไม่อยากถูกหัวเราะเยาะ ยืนยันว่าจะอยู่อาศัยในชุมชนต่อไป แต่ยังไม่ทราบว่าจะสู้ด้วยวิธีใดต่อไป

นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่า การรื้อบ้านเลขที่ 99 ถือเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าบ้านหลังอื่นที่เหลืออยู่ ไม่มีอนาคตแล้ว ตอนนี้คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องการรื้อ หรือไม่รื้อบ้าน แต่ต้องมองประเด็นการบริหารจัดการและดูแลชาวบ้านที่ต้องย้ายออกไปจากชุมชน

“การจัดการแบบนี้ทำให้เมืองไม่มีราก นี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาของชุมชนคนจนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์และพื้นที่อื่นๆ กทม. ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ถามว่าก่อนรื้อได้มองกลไกการตั้งรับหรือช่วยชาวบ้านหรือไม่ ตอนนี้เป็นห่วงชะตากรรมของชาวบ้านที่ย้ายออกไปแล้ว อยากทราบว่าจะมีกลไกการช่วยเหลืออย่างไรที่เป็นไปได้อีกหรือไม่ นอกเหนือจากการเป็นไปตามยถากรรม หรือบ้านมั่นคงซึ่งชาวบ้านบางกลุ่มอาจยังรับไม่ได้ มันไม่มีทางเลือกใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าภาครัฐกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จะร่วมมือกันหากลไกที่ยืดหยุ่น” นางภารนี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image