ครม.สั่งการจิสด้า-ทอ.เตรียมพร้อมสร้างดาวเทียมความมั่นคง

ดาวเทียมป้องกันภัยคุกคามทางอากาศของไทยใกล้เป็นจริงครม.สั่ง ผอ.จิสด้า หารือ ผบ.ทอ.ชี้ขยะอวกาศเพิ่มปริมาณทุกวัน หวั่นสร้างความเสียหายดาวเทียมไทย ปลายก.พ.สั่งจับตาเทียนกง 24 ชั่วโมง

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(สทอภ.) หรือ จิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) กล่าวว่า ที่จิสด้าจะเสนอแผนการสร้างดาวเทียมเพื่อความมั่นคงของประเทศ คือโครงการดาวเทียมเพื่อการพัฒนาระบบเฝ้าระวังวัตถุทางอวกาศ และภัยทางอวกาศของประเทศไทย ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยดาวเทียมดวงดังกล่าวสร้างโดยฝีมือคนไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางอวกาศ นั้น การประชุม ครม.ล่าสุดนั้น ได้มีข้อสั่งการให้ จิสด้า ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางรูปแบบ และประสานงานในเรื่องนี้ โดยเวลานี้ ได้นัดกับ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ(ผบ.ทอ.) เพื่อหารือในการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว ทั้งนี้โครงการดังกล่าวต้องมีทางกองทัพอากาศเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องดำเนินการ และจิสด้าจะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุน

“ผมยังคงยืนยันว่า เรื่องดาวเทียมเพื่อการพัฒนาระบบเฝ้าระวังวัตถุทางอวกาศ และภัยทางอวกาศนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะทุกวันนี้มีขยะอวกาศ ที่ล่องลอยเหนือพื้นโลกในระดับ 500-800 กิโลเมตร อยู่นับแสนชิ้น และคาดว่าอีกไม่นาน จะเพิ่มปริมาณขึ้นเป็นล้านชิ้น เราไม่มีทางรู้ว่าวันไหน เมื่อไหร่ ที่ขยะอวกาศเหล่านี้จะเข้ามาชนดาวเทียมของเรา หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นนอกจากทำให้เราได้รับความเสียหายแล้ว เราก็จะสูญเสียโอกาศหลายๆอย่างจากที่ดาวเทียมปกติเราจะได้รับด้วย”นายอานนท์ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามเรื่้องที่จิสด้า ตั้งทีมงานเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของสถานีอวกาศเทียนกง ของประเทศจีน ที่หมดอายุแล้ว และจะตกลงสู่โลกเร็วๆนี้ ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายอานนท์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่า ที่ผ่านมาจะไม่เคยมีข่าวอย่างเป็นทางการว่าสถานีอวกาศ หรือซากดาวเทียมที่หมดอายุ หรือขยะอวกาศจะตกลงมาแล้วสร้างความเสียหายให้กับใครบ้างบนโลก แต่ทุกประเทศก็ไม่เคยมีใครประมาท ใครที่อยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสว่าเทียนกงจะตกใส่นั้นก็เฝ้าจับตามองกันทุกประเทศ

“นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เราต้องตระหนักกับเรื่องปัญหาขยะอวกาศ เพราะทุกวันนี้ หลายร้อยประเทศต่างก็ส่งดาวเทียมของตัวเองขึ้นสู่อวกาศจำนวนมาก ทั้งที่ยังใช้งานได้และหมดอายุแล้ว ในอวกาศจึงเต็มไปด้วย ดาวเทียม ซากดาวเทียม และจรวดนำส่งดาวเทียม วันดีคืนดีมันก็ตกลงมา หากเผาไหม้ในอากาศหมดก่อนตกใส่โลกก็ดีไป แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นก็ต้องลุ้นกันว่าจะตกที่ใน ในทะเล หรือในพื้นที่ใด อย่างสถานีอวกาศเทียนกง เนื่องจากเป็นขยะอวกาศที่ค่อนข้างใหญ่ อาจจะเผาไหม้ในอวกาศไม่หมด จึงต้องเฝ้าระวังกัน โดยจิสด้าวางแผนกันว่า ช่วงเวลานี้ติดตามความเคลื่อนไหววันละ 1 ครั้ง วิเคราะห์รายวัน แต่เมื่อเคลื่อนไหวเข้าใกล้โลกมากขึ้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ก็ต้องติดตามตลอด 24 ชั่วโมง”นายอานนท์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image