แพทย์เผยคนไทยมีปัญหาการได้ยิน 2.7 ล้าน วัยรุ่นเสี่ยงหูเสื่อม เหตุใช้มือถือสูง

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ที่วังเทวราชสภารมย์ วังพญาไท รพ.พระมงกุฎเกล้า ศ.พญ.เสาวรส ภทรภักดิ์ ประธานราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าวโครงการ World Hearing Day – วันการได้ยินโลกว่า ทั่วโลกมีประชากรที่มีปัญหาการได้ยิน 360 ล้านคน ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า การใช้ชีวิตในปัจจุบัน วัยรุ่นและวัยทำงานมีความเสี่ยงต่อภัยจากเสียงมากขึ้นราว 1,000 ล้านคนสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาการได้ยินประมาณ 2.7 ล้านคน หรือเทียบเท่ากับจำนวนประชากรจังหวัดนครราชสีมา หากไม่ได้รับการป้องกันหรือแก้ไข ในปี 2568 คาดว่าคนไทยทุก 10 คนจะเจอปัญหาการได้ยิน 1 คน ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการสูญเสียการได้ยิน เนื่องจาการใช้ชีวิตในปัจจุบันอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังมากขึ้น เช่น สถานที่ทำงาน สถานบันเทิง ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ งานปาร์ตี้ต่างๆ หรืองานคอนเสิร์ต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ต้องเสียบหูฟัง เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือการเชื่อมต่อบลูทูธ

พ.อ.หญิง พญ.สายสุรีย์ นิวาตวงศ์ เลขานุการการจัดงานวันการได้ยินโลก กล่าวว่า ปัญหาการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดังอาจแบ่งได้เป็นหลายระดับคือ 1.การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว มักมีเสียงในหูร่วมด้วย ระยะฟื้นตัวไม่เกิน 24 ชั่วโมง หากสัมผัสเสียงดังเป็นเวลานานอาจเกิดการสูญเสียการได้ยินแบบถาวรได้ 2.การสูญเสียแบบถาวร มีการสูญเสียเซลล์ขนและการเสื่อมสลายของเส้นประสาท แบ่งเป็นการสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง อาจเกิดจากการได้ยินเสียงดังๆ เป็นระยะเวลานาน หรือการได้รับเสียงดังมากๆ ในระยะเวลาอันสั้น เช่น เสียงระเบิด เสียงปืน ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการปวด เยื่อแก้วหูทะลุร่วมด้วย

พ.อ.หญิง พญ.สายสุรีย์กล่าวว่า การป้องกันตนเองไม่ให้เกิดการสูญเสียการได้ยินคือ 1.ปรับลดความดังเสียงลง 2.ใส่ที่อุดหูกันเสียง 3.ตั้งความดังเสียงในอุปกรณ์ต่างๆ ในระดับปลอดภัย คือประมาณร้อยละ 60 ของความดังสูงสุด 4.พักหูในช่วงที่มีกิจกรรมที่ต้องได้ยินเสียงดังต่อเนื่องเป็นเวลานาน 5.จำกัดเวลาใช้หูฟังส่วนตัว ฟังเสียงจากคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน 6.ประเมินระดับเสียงที่ได้ยิน โดยใช้แอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์ที่วัดระดับความดังของเสียงได้ 7.ถ้าเริ่มมีความผิดปกติในการได้ยิน เช่น มีเสียงแว่วในหูคล้ายเสียงจิ้งหรีดหรือจั๊กจั่น หรือเริ่มฟังคนอื่นพูดไม่รู้เรื่อง ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ทันที และ 8.หน่วยงานหรือโรงเรียนควรสนับสนุนให้มีการจัดการตรวจคัดกรองการได้ยินอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง

“นอกจากระดับความดังของเสียงแล้ว ระยะเวลาที่ฟังเสียงก็มีความสำคัญในการทำงานที่ใช้เวลา 8 ชั่วโมง กำหนดให้ระดับเสียงดังไม่เกิน 85 เดซิเบล ถ้าในสถานที่ที่มีเสียงดังมากกว่านี้ เช่น ในสถานีรถไฟใต้ดินที่มีเสียงดังถึง 100 เดซิเบล ก็ไม่ควรฟังเกิน 15 นาทีต่อวัน หรือหากฟังเสียงโทรศัพท์มือถืออาจมีความดังระหว่าง 75-135 เดซิเบล ขึ้นอยู่กับการตั้งค่า ในร้านอาหารที่มีดนตรีอาจมีเสียงดังระหว่าง 104-112 เดซิเบล การได้ยินเสียงดังมากๆ แม้ในช่วงเวลาสั้นๆ หรือดังไม่มากแต่ต่อเนื่องเป็นประจำก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบถาวรได้” พ.อ.หญิง พญ.สายสุรีย์กล่าว

Advertisement

พ.อ.หญิง พญ.สายสุรีย์กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมงานวันได้ยินโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี โดยกิจกรรมในประเทศไทยปีนี้จัดเป็นครั้งแรก เป็นความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ จัดงานพร้อมกันทั่วประเทศ ประกอบด้วย งานนิทรรศการวิชาการให้ความรู้ พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก และนักแก้ไขการได้ยินและสื่อความหมาย พร้อมทั้งบริการตรวจร่างกาย การคัดกรองการได้ยิน โดยสามารถเข้าร่วมได้ในโรงพยาบาลใกล้บ้านตั้งแต่วันที่ 2-3 มีนาคม อาทิ รพ.พระมงกุฎเกล้า จัดกิจกรรมการได้ยินกับเทคโนโลยี 4.0 วันที่ 2 มีนาคม 2561 รพ.ราชวิถีจัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เรื่องโรคหู พร้อมทั้งตรวจการได้ยินและแจกอุปกรณ์ตรวจการได้ยินในวันที่ 3 มีนาคมนี้ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image