สปสช.เผยจัดการ ‘ยาต้านพิษ’ ช่วยคนไข้กว่า2.7หมื่นราย

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัญหาการเข้าถึงยาเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยได้รับพิษที่ต้องได้รับยารักษาภายในเวลาที่จำกัด แต่ยาต้านพิษเหล่านี้มักเป็นยากำพร้า มีอัตราการใช้ต่ำมากจนส่งผลต่อการผลิตยาและเกิดปัญหาขาดแคลนยา ซึ่งไม่มียาอื่นนำมาใช้ทดแทนได้ ทั้งนี้ปี 2553 สปสช.จึงได้ร่วมกับศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนิน “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ” จัดหาและจัดซื้อยาต้านพิษเร่งด่วนที่ควรมีในประเทศ โดยใช้ฐานข้อมูลของศูนย์พิษวิทยาฯ จนเป็นนวัตกรรมบริการจัดการยาต้านพิษ

“ปี 2553 ได้บรรจุยาต้านพิษในรายการที่จำเป็นต่อการเข้าถึง 6 รายการ และปัจจุบันได้ขยายเพิ่มเป็น 16 รายการ ทั้งครอบคลุมถึงเซรุ่มต้านพิษงู 7 รายการ และจากข้อมูลสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช.ปี 2560 มีผู้ป่วยได้รับยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงู 6,917 ราย โดยในกลุ่มยาต้านพิษมีการเบิกจ่ายยาเมทิลีน บลู (Methylene blue) มากที่สุด 89 ราย ยาดิฟธีเรีย แอนตี้ท็อกซิน (Diphtheria antitoxin) 82 ราย และยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine inj.) 33 ราย ส่วนกลุ่มเซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มแก้พิษงูกะปะมีการเบิกจ่ายมากที่สุด 2,687 ราย เซรุ่มแก้พิษงูเขียวหางไหม้ 1,838 ราย เซรุ่มแก้พิษงูระบบโลหิต 1,001 ราย และเซรุ่มแก้พิษงูเห่า 716 ราย”นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่า ขณะที่ผลการดำเนินโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษในช่วง 7 ปี แต่ละปีได้ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยากำพร้าและกลุ่มยาต้านพิษต่อเนื่อง โดยกลุ่มยาต้านพิษที่ได้เริ่มต้นในปี 2554 -2560 มีผู้ป่วยสะสมที่ได้รับยาต้านพิษ 1,800 ราย ขณะที่กลุ่มเซรุ่มแก้พิษงูที่เริ่มต้นในปี 2556–2560 มีผู้ป่วยสะสมที่ได้รับเซรุ่มแก้พิษงู 25,636 ราย รวมผู้ป่วยที่ได้รับยาภายใต้โครงการการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ทั้งสิ้น 27,436 ราย

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า โครงการนี้ยังช่วยประหยัดงบประมาณการจัดซื้อยา โดยเฉพาะการจัดซื้อเซรุ่มแก้พิษงูที่มีข้อมูลปรากฎชัดเจน จากเดิมที่โรงพยาบาลทั่วประเทศมีการจัดซื้อเซรุ่มแก้พิษงูมูลค่าเกือบ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ปี 2556 ประหยัดงบฯ ได้ร้อยละ 71 หรือ 55 ล้านบาท ปี 2557 ร้อยละ 25 หรือ 19 ล้านบาท ปี 2558 ร้อยละ 50 หรือ 39 ล้านบาท ปี 2559 ร้อยละ 49 หรือ 38 ล้านบาท และปี 2560 ร้อยละ 35 หรือ 27 ล้านบาท รวม 5 ปี ประหยัดงบฯ 179 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image