พยัคฆ์ไพร ผงะ ท่าเรือท่องเที่ยวไฮโซ แต่เถื่อน ไม่ขออนุญาตอะไรสักอย่าง

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า หัวหน้าชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.)โดยการอำนวยการของ นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ ศปก.พป. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ได้ร่วมบูรณาการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มทุนที่บุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าไม้ กับ กองกำกับการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา บก.ปทส.,ศปป4.กอ.รมน. กล.รส.จ.พังงา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบท่าเทียบเรือจำนวน 4 จุดในเขต ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ของกลุ่มผู้ประกอบการทัวร์จากต่างประเทศที่พยายามลักลอบทำทัวร์แบบผิดกฎหมายตามแหล่งท่องเที่ยวในเขตทะเลฝังอันดามัน ในท้องที่ จ.ภูเก็ตและ จ.พังงา ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าว โดย จากการสืบทราบว่าบริเวณดังกล่าวได้มีกลุ่มนายทุนที่ดำเนินการทำทัวร์รับลูกค้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีนและรัสเซีย แอบเข้าก่อสร้างท่าเทียบเพื่อนำลูกค้าทัวร์มาลงเรือที่ท่าเรือบริเวณดังกล่าวเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆตามเกาะในเขตทะเลฝังอันดามันที่มีธรรมชาติสวยงาม

 

 

Advertisement

นายชีวะภาพ กล่าวว่า จากการตรวจสอบของคณะเจ้าหน้าที่พบว่าโดยท่าเรือที่ตรวจสอบพบจำนวน 4 จุดอยู่ใกล้ๆกันในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าว ประกอบด้วย ท่าเรือบลูด้า มารีน เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่รองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ท่าเรือหาญทะเล เป็นท่าเรือรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ท่าเรือรัสเซีย เป็นท่าเรือรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซีย และ ท่าเรือไม่มีชื่ออยู่ติดกับท่าเรือรัสเซีย

“ตรวจสอบท่าทั้งหมดมีการก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือยาวลงไปในน้ำเพื่อรองรับเรือสปีดโบ้ตขนาดใหญ่จำนวนท่าละหลายสิบลำ มีการปรับปรุงพื้นที่เป็นลานจอดรถทั้งรถตู้และรถบัสขนาดใหญ่ จำนวนหลายสิบคัน คาดว่าแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวที่มาลงเรือที่ท่าเทียบเรือดังกล่าวไม่น่าน้อยกว่าวันละ 1 พันคน ตรวจสอบพบมีการพัฒนาพื้นที่เป็นห้องอาหารและอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ เมื่อคณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบทั้ง 4 จุดพร้อมกัน ตรวจสอบพบไม่มีการขออนุญาตดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 4 ท่าเทียบเรือ พบเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับได้แก่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 พ.ร.บ. ควบคุมอาคารปี 2522 พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่17) 2560 คณะเจ้าหน้าที่จึงร่วมกันตรวจสอบรังวัดพื้นที่โดยละเอียด เพื่อดำเนินการจัดทำบันทึกเรื่องราวร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.ท้ายเหมือง จ.พังงา จนกว่าจะแล้วเสร็จต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image