อย. อ้ำอึ้งไม่ชัดไทยนำเข้าปลาฟุกุชิมะหรือไม่ แต่ผลตรวจรังสีไม่พบปนเปื้อนตั้งแต่ปี 2555

จากกรณีสื่อญี่ปุ่นรายงานข่าวการส่งออกปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่ม จนทำให้เกิดสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหลเมื่อปี 2554 ได้ส่งออกมายังประเทศไทยเป็นประเทศแรก และกระจายไปยังร้านอาหารญี่ปุ่น 12 ร้านทั่วกรุงเทพมหานคร จนทำให้ประชาชนไทยเกิดกระแสตื่นกลัวการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ออกหมายกำหนดการแถลงข่าวโดยด่วนในเวลา 14.30 น.  โดย นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  แถลงว่า หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี 2554 ที่ จ.ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และเกิดกัมมันตภาพรังสีรั่วบริเวณโดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้มีมาตรการคุมเข้มเรื่องการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหาร โดยประเทศไทยไม่ได้ห้ามนำเข้า แต่มีมาตรการคุมเข้มคือ 1.กำหนดปริมาณการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี โดยไอโอดีน-131 ต้องไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัมหรือต่อลิตร  และซีเซียม-134 และซีเซียม-137 รวมกันต้องไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัมหรือต่อลิตร และ 2.กำหนดให้ต้องแสดงเอกสารยืนยันชนิดอาหารและพื้นที่เสี่ยงจากประเทศต้นทาง ซึ่งบริษัทที่จะนำเข้าต้องแสดงเอกสารดังกล่าวว่านำเข้าอาหารอะไร มาจากเมืองฟุกุชิมะหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่มีแค่ประเทศไทยที่ดำเนินการ ยังมีทั้งแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และมาเลเซีย ที่มีมาตรการดังกล่าว

“เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้วจะมีการสุ่มตรวจการปนเปื้อนต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการเช่นเดียวกันในทุกประเทศ โดยผลการตรวจวิเคราะห์สารกัมมันตภาพรังสีอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งปลา ไข่ปลา หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก สาหร่าย ผักและผลไม้ และอาหารแปรรูป ตั้งแต่ปี 2554 ที่เกิดเหตุปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในทะเลจนถึงปัจจุบันนั้นพบว่าเดือนมีนาคม  2554 – เมษายน  2555 ตรวจ 607 ตัวอย่าง พบสารกัมมันภาพรังสี 45 ตัวอย่าง  โดยเดือนเมษายน  2555 – เดือนกันยายน 2555 ตรวจ 139 ตัวอย่าง พบ 2 ตัวอย่าง  ส่วนเดือนตุลาคม  2555 –กันยายน 2556 ตรวจ 189 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อน  และเดือนตุลาคม  2556 –กรกฎาคม  2558 ตรวจ 22 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อน  กระทั่งเดือนมีนาคม  -เมษายน  2559 ตรวจ 57 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อน ส่วนการตรวจพยาธิและเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ยังมีการพบปนเปื้อนบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่สารกัมมันภาพรังสีตั้งแต่ ตุลาคม  2555 ก็ไม่พบการปนเปื้อนเลย” นพ.วันชัย กล่าว

 

Advertisement

นพ.วันชัย กล่าวว่า หลังจากตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสี อย.จึงยกเลิกมาตรการคุมเข้ม ภายใต้มาตรฐานทางวิชาการ โดยปี 2559 ก็สามารถนำเข้าได้โดยที่ไม่ต้องมีเอกสารยืนยันจากประเทศต้นทาง ส่วนที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่นำเข้าปลาจากเมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่นนั้น ตนยืนยันไม่ได้ เพราะการยกเลิกมาตรการขอใบรับรองจากประเทศต้นทางนั้น ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยประเทศเดียว ซึ่งตรงนี้ขึ้นกับผู้ประกอบการแต่ละประเทศว่ามีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหนในการนำเข้า และตนไม่ทราบว่าประเทศอื่นมีการนำเข้าด้วยหรือไม่ และอย่างที่บอกว่าไม่ได้ห้ามนำเข้า เพียงแต่ช่วงมีมาตรการคุมเข้มต้องมีการแสดงใบรับรองจากประเทศต้นทางเท่านั้น นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขประเทศญี่ปุ่นจะมีมาตรการแจ้งผ่านสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทยให้ทราบทุกครั้งว่า อาหารล็อตใดที่ปนเปื้อนกัมมันภาพรังสีที่เกินมาตรฐานจะถูกควบคุมและทำลายทันที เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระจายสินค้าไปสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย

 

นพ.วันชัย กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่ตรวจไม่พบการปนเปื้อนนั้น คาดว่ามาจากการปนเปื้อนในทะเลนั้นไม่เป็นวงกว้าง และมหาสมุทรก็ค่อนข้างกว้าง จึงทำให้การปนเปื้อนลดน้อยลงไป สำหรับข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องให้ อย.ไปสุ่มตรวจทั้ง 12 ร้าน หรือให้ทั้ง 12 ร้านที่รับเนื้อปลาล็อตดังกล่าวต้องติดป้ายเพื่อให้ผู้บริโภครู้นั้น อย.มองว่าไม่สามารถทำได้ และไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปดำเนินการ เพราะข้อมูลหลักฐานทางวิชาการก็ชัดเจนแล้วว่า ผลตรวจที่ผ่านมาไม่พบการปนเปื้อนเลยหลายปี จึงไม่มีเหตุผลพอให้เข้าไปดำเนินการ มิเช่นนั้นอาจถูกฟ้องร้องได้ จึงอยากให้มองข้อเท็จจริงมากกว่าความรู้สึก ซึ่งหากประชาชนรู้สึกว่าไม่มั่นใจก็มีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายเงินเพื่อบริโภคได้ ทั้งนี้ คาดว่าเรื่องดังกล่าวอาจเป้นการโปรโมตทางการตลาดหรือไม่

Advertisement

 

นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หลังจาก อย.ออกประกาศยกเลิกมาตรการคุมเข้มในปี 2558 และยกเลิกมาตรการในปี 2559 ก็เริ่มมีการนำเข้าแล้ว จึงไม่ใช่เพิ่งมีการนำเข้าครั้งแรกตามข่าวแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่ทราบว่ามาจากเมืองฟุกุชิมะหรือไม่ เนื่องจากเอกสารสำแดงการนำเข้านั้นจะบอกแค่ว่ามาจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้บอกว่ามาจากเมืองไหน จังหวัดอะไร ส่วนล็อตที่เป็นข่าวดังกล่าวนั้น เท่าที่ดูข้อมูลน่าจะเป็นล็อตที่เข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม  2561 โดยเป็นปลาตาเดียวหรือปลาแฮลิบัตจำนวน 130 กิโลกรัม นอกจากนี้ ในล็อตดังกล่าวยังมีปลาซาดีน 1.1 กิโลกรัม หอยนางรม 1 กิโลกรัม และปลาอะยุอีก 1 กิโลกรัม

 

น.ส.จิตรา เศรษฐอุดม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข อย. กล่าวว่า การรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 มีเพียง 3 ตัว จึงกำหนดเพียงมาตรฐาน 3 ตัวนี้ คือ ไอโอดีน-131 ซีเซียม-134 และซีเซียม-137 โดยครึ่งชีวิตของสารกัมมันตภาพรังสี 3 ตัวนี้ หรือเวลาที่จะเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติจนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิมนั้น พบว่า หากเป็น ไอโอดีน-131 ใช้เวลา 8 วัน ส่วนซีเซียม-134 และซีเซียม-137 ใช้เวลายาวนานกว่าคือประมาณ 30 ปี ปัจจุบันจึงเน้นในการตรวจสารซีเซียม-134 และซีเซียม-137 มากกว่า สำหรับอันตรายจากสารกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวนั้น ไอโอดีน-131 จะสะสมที่ต่อมไทรอยด์ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ ส่วนซีเซียมทั้ง 2 ตัวนั้น สามารถกระจายไปสะสมตามเนื้อเยื่อในระบบต่างๆ ได้ หากไปสะสมบริเวณใดก็อาจทำให้เกิดมะเร็งบริเวณนั้นได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image