กทม.จัดอบรมบุคลากรในสังกัด เรียนรู้ทักษะ ‘ซีพีอาร์’ กู้ชีพฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมโครงการ “การฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยชีวิตพื้นฐาน (CPR) แก่บุคลากรของ กทม.” ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. ผู้บริหารสำนักอนามัยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอบรม อาทิ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ฯลฯ 80 ราย

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพกรุงเทพมหานครมีอาคารสูงตามกฎหมายควบคุมอาคารที่มี 23 เมตร (ม.) ขึ้นไป รวม 305 อาคาร ในจำนวนนี้อาคารธานีนพรัตน์ได้มีความสูงอาคารถึง 120 ม. ทำให้บุคลากรปฎิบัติการภายในอาคารอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัย ประกอบกับปัญหาที่พบภายในอาคารธานีนพรัตน์ คือ ใช้เวลาขึ้น-ลงลิฟท์เวลานาน อย่างไรก็ตาม หากผู้ประสบเหตุและผู้ช่วยเหลือขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์และขาดทักษะในการช่วยเหลือ อาจเกิดอันตรายต่อผู้ประสบเหตุได้ นอกจากนี้ สาเหตุของการเสียชีวิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและหลอดเลือด โรคหัวใจ ความดันโลหิตและจมน้ำ เมื่อเกิดอาการผิดปกติบางรายอาจมีภาวะหยุดหายใจกะทันหัน ถ้าปล่อยไว้นานเกิน 4 นาที แม้จะช่วยให้ฟื้นคืนชีพกลับได้จะเกิดสภาวะสมองตายอย่างถาวร จึงจำเป็นได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและทันท่วงที พร้อมส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บไปยังสถานพยาบาลอย่างรวดเร็วถึงจะมีโอกาสรอดชีวิตและกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้

Advertisement

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ยกตัวอย่างกรณีการเสียชีวิตของอดีตผู้อำนวยการเขตพระนคร เนื่องจากหัวใจหยุดเต้นระหว่างออกกำลังกายเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา มองว่าหากมีอุปกรณ์ หรือช่วยเหลือผู้ป่วยทันทีอาจมีโอกาสรอดชีวิตได้ ดังนั้น วิธีการทำซีพีอาร์จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวของบุคลากร กทม.อีกต่อไป จำเป็นต้องมีความรู้และทักษะในการปฐมพยายาล ขณะเดียวกัน เครื่องกระตุกไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือเครื่องเออีดี (AED) เป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บได้ เพราะระหว่างเกิดภาวะหยุดหายใจกะทันหันผู้ป่วยจะมีคลื่นหัวใจอยู่ หากใช้เครื่องเออีดีช่วยกระตุกคลื่นหัวใจทันที ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ 70-80 ปัจจุบันกทม.อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องเออีดี จำนวน 200 เครื่อง เพื่อนำมาติดตั้งตามหน่วยงานสังกัด กทม. อาทิ บริเวณห้องโถงชั้นล่างหรือภายในศูนย์บีเอฟซีของ 50 สำนักงานเขต สำนักงานของ กทม. และศูนย์สร้างสุขของ กทม. เป็นต้น คาดติดตั้งเครื่องเออีดีได้ช่วงเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ กทม.ยังเตรียมขยายโครงการอบรมรุ่นต่อไปให้ครอบคลุมต่อบุคลากรของ กทม.ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image