‘หมอธีระวัฒน์’ ชงสธ.ปรับแผนฉีด ‘วัคซีน-เซรุ่ม’ พิษสุนัขบ้าตามคำแนะนำอนามัยโลก ปูพรมฉีดล่วงหน้า

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงการรับมือการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในหลายจังหวัดของประเทศไทย ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่มี
ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธานการประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า และพิจารณาถึงการรับมือสถานการณ์การระบาดของโรคที่ประเมินว่ารุนแรง

“เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่แพร่จากสัตว์สู่คน มีการประเมินว่าโรคนี้ระบาดรุนแรงและกระจายหลายจังหวัด จึงเป็นห่วงเรื่องการสำรองวัคซีนและสารสกัดน้ำหลือง (เซรุ่ม) สำหรับคนที่ถูกกัดและกลุ่มเสี่ยง หากยังใช้วิธีการฉีดวัคซีนและเซรุ่มให้คนแบบเดิมๆ เกรงว่าอาจไม่เพียงพอ และหากต้องการใช้ให้เพียงพอต่อสถานการณ์การระบาดอาจต้องใช้งบประมาณสูงมาก และทำให้การควบคุมโรคไม่ได้ประสิทธิผล องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำสำหรับประเทศไทยให้พิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีนและเซรุ่มในคนมาแล้ว 2 ครั้ง คือช่วงปลายปี 2560 และต้นปี 2561 ผมจึงได้เสนอที่ประชุมให้ปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ 1.ในการฉีดวัคซีนซึ่งเดิมมีระยะเวลาการฉีดให้ครบชุดรวม 28 วัน กินเวลานานยุ่งยาก อาจทำให้ทั้งผู้ฉีดและผู้ถูกฉีดลืมจนทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคลดลง ขอให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นภายใน 7 วัน คือ วันที่ 0 วันที่ 3 และวันที่ 7 และทั้งการฉีดให้ผู้ที่ถูกกัดหรือสัมผัสเชื้อ และผู้ที่ต้องฉีดป้องกันล่วงหน้า ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ แต่ให้ฉีดเข้าใต้ผิวหนังแทน เพราะสามารถประหยัดการใช้วัคซีนได้ครึ่งหนึ่งของการฉีดใต้กล้ามเนื้อ 2.เซรุ่มที่ฉีดให้ผู้ที่ถูกสุนัขกัด ซึ่งทำจากน้ำเหลืองของม้า และราคาค่อนข้างสูง เดิมต้องมีการฉีดทดสอบที่ผิวหนังก่อนว่ามีอาการแพ้หรือไม่ แต่เนื่องจากระยะหลังพบว่าแม้จะมีการฉีดทดสอบที่ผิวหนังแล้วไม่แพ้ก็ตาม แต่ยังพบว่าสำหรับบางคนเมื่อฉีดจริงกลับแพ้อยู่ดี จากนี้ไปจึงไม่ควรเสียเวลาทดสอบ แต่ให้ทำการฉีดอย่างระมัดระวัง และให้เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ถูกกัดแล้วมีแผลเกิดขึ้น จะให้ฉีดวัคซีนใต้ผิวหนังและฉีดเซรุ่มที่บริเวณแผลตามขนาดของแผลพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่รวดเร็ว เนื่องจากหากฉีดวัคซีนอย่างเดียวต้องใช้เวลาถึง 14 วัน เพื่อกระตุ้นภูมิ อาจไม่ทันการ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะนี้ กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างพิจารณา อีกทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เชิญตัวแทนผู้ผลิตวัคซีนและเซรุ่มที่มีใช้ในประเทศไทยมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า หากมีการผลิตเพิ่มเติมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงข้อความในใบกำกับยาด้วย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้เสนอให้ปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้าให้แก่ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง และในระยะยาวอาจต้องให้บรรจุวัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนพื้นฐานเหมือนกับวัคซีนบีซีจีด้วย ทั้งนี้ จากการประเมินความจำเป็นในการใช้วัคซีนและเซรุ่มในประเทศไทย โดยพิจารณาจากสถิติผู้ที่ถูกสุนัขกัดหรือมีการสัมผัสเชื้อของสุนัขแล้วไปฉีดวัคซีนในแต่ละปี พบว่าอาจต้องใช้วัคซีนถึง 5 แสนโด๊สต่อปี และเซรุ่มอีกจำนวนหนึ่ง แต่ขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไป คาดว่ามีความจำเป็นต้องใช้เพิ่มขึ้น จึงได้มีการเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงเรื่องนี้ โดยอาจจะต้องมีการสำรองวัคซีนและเซรุ่มเพิ่มขึ้นด้วย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังกล่าวถึงความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าว่า ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะนอกจากหน่วยงานราชการจะดำเนินการตามแผนแล้ว แต่หากเจ้าของสุนัขไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รับผิดชอบ ปัญหานี้ก็ยากจะสำเร็จ ที่สำคัญกลุ่มคนรักสัตว์ องค์กรพิทักษ์สัตว์ หากพบเห็นเจ้าหน้าที่เข้าไปปฎิบัติการควบคุม กักกัน หรือกำจัดสุนัข ขอให้เข้าใจด้วยว่าทุกคนทำด้วยความจำเป็น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุถึงกรณีข้อเสนอของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ที่เสนอให้ปรับสูตรการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ว่า เรื่องนี้องค์การอนามัยโลกได้มีข้อแนะนำมาเมื่อปี 2560 โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้หารือในเรื่องการปรับสูตรการฉีดจาก 28 วัน เหลือ 7 วัน หรือสูตร วันที่ 0 วันที่ 3 และวันที่ 7 และทั้งการฉีดให้ผู้ที่ถูกกัดหรือสัมผัสเชื้อ และผู้ที่ต้องฉีดป้องกันล่วงหน้า ซึ่งทั้งหมดมีการหารือกันตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการศึกษา โดยต้องมีการเสนอเข้าสู่อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีหลายภาคส่วนเป็นกรรมการ และมีกรมควบคุมโรคเป็นเลขานุการ คาดว่าจะประชุมใน 1-2 เดือน

แหล่งข่าวในแวดวงระบาดวิทยา กล่าวว่า การฉีดป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้านั้น มีการดำเนินการมาหลาย 10 ปีแล้ว โดยมุ่งไปที่สัตวแพทย์ กลุ่มเสี่ยงสัมผัสสัตว์ แต่ทราบว่าข้อเสนอต้องการให้ฉีดในกลุ่มเด็ก ซึ่งก็ต้องมีการศึกษาประสิทธิภาพ ความคุ้มทุน หากต้องฉีดป้องกันทั้งประเทศ แต่หากฉีดในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งก็ต้องรอการพิจารณาของอนุกรรมการ เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image