แพทย์จุฬาฯชี้ ‘ไหลตาย’ พบได้ทั่วโลก หัวใจผิดปกติไม่เกี่ยว ‘ผีแม่ม่าย’

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ผศ.นพ.สมชาย ปรัชาวัฒน์ หัวหน้าอนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ สาขาวิชาหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในงานแถลงข่าว “ไขความลับ! ทำอย่างไรคนไทยจะไม่ไหลตาย จากการถอดรหัสพันธุกรรมในคนไทยกว่า 750 คน ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่และการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุ” ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ว่า โรคไหลตาย หรือ Sudden Unexplained Nocturnal Death Syndrome (SUND) คือการเสียชีวิตขณะนอนหลับ มักมีอาการคล้ายหายใจไม่สะดวก เกิดในผู้ชายวัยหนุ่มที่ปกติแข็งแรงดีก่อนเข้านอน และพบว่าเสียชีวิตในช่วงเช้าวันถัดไป ที่ผ่านมา จะพบบ่อยครั้ง โดยเฉพาะแถบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)

“โรคนี้พบได้ทั่วโลก ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่จะพบบ่อยในทางเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ยังมีน้อย โดยประเทศไทยทางอีสานเชื่อว่าเป็นผีแม่ม่าย จนต้องมีการทาเล็บ ห้อยปลัดขิก หรือหุ่นฟางหน้าบ้าน แต่จากการศึกษาพบว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรในหัวใจ หรือหัวใจเต้นระริก คือไม่มีการบีบตัวเลย ทำให้หัวใจเปรียบเสมือนหยุดเต้น หากช่วยเหลือไม่ทัน ไม่กี่นาทีก็เสียชีวิต” ศ.นพ.สมชาย กล่าว

ศ.นพ.กุลวี เนตรมณี อาจารย์พิเศษฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงว่า โรคไหลตายในไทยเกิดขึ้นได้บ่อย โดยในคนอายุ 30-50 ปี พบอัตราการไหลตายประมาณ 40 ต่อแสนประชากร ซึ่งถือว่าสูงมาก รองจากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสำหรับสาเหตุนั้น เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในหัวใจ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการมีผังพืดบริเวณผิวของหัวใจด้านนอกช่องล้างด้านขวา ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นระริก หากดูจากกราฟหัวใจจะพบว่า มีลักษณะคล้ายกับขาตั๊กแตน หรือเรียกว่า คลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด Brugada และโรคพวกนี้จะอ่อนไหวกับความร้อน ถ้าอุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ก็จะมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น

“คนที่มีความเสี่ยง คือผู้รอดชีวิตจากการไหลตาย มีญาติสายตรงมีอาการนี้ หรือผู้ที่ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด Brugada การรักษาที่ผ่านมาจะใช้วิธีการฝังเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AICD) ซึ่งจะสามารถช่วยเฝ้าระวังและป้องกันการเสียชีวิตจากการไหลตายได้ แต่ราคาแพงไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท และปัจจุบันอยู่ในสิทธิการรักษาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการรักษาที่ต้นเหตุคือ การจี้ผังพืดหัวใจด้วยคลื่นวิทยุ ในไทยได้รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้แล้วกว่า 70 ราย ซึ่งพบว่า อาการคลื่นไฟฟ้าผิดปกติหายไป แต่แม้จะใช้วิธีนี้มาแล้ว 10 ปี ก็ยังต้องศึกษาเพิมเติมเพื่อความมั่นใจ คาดว่าอีก 2 ปี จะได้ข้อสรุป หากมีประสิทธิผลที่ดีจะผลักดันอยู่ในสิทธิการรักษาแทนการฝังเครื่อง AICD

Advertisement

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แถลงว่า ขณะนี้ได้ทำวิจัยเก็บข้อมูลพันธุกรรมและถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของคนที่เป็นโรคไหลตาย จำนวน 250 คน เปรียบเทียบกับการถอดรหัสพันธุกรรมของคนปกติอีก 500 คน ล่าสุดเก็บข้อมูลคนไข้แล้วกว่า 200 คน คนปกติอีก 300 กว่าคน กำลังอยู่ในช่วงถอดรหัสและเก็บข้อมูลให้ครบ 250 และ 500 คน คาดว่าใช้เวลาอีก 2-3 ปี แต่หากทำได้ครบ 1,000 คน จะใช้เป็นฐานข้อมูลด้านพันธุกรรมของประเทศได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image