“จิสด้า” ยกทีมส่อง “เทียนกง-1” ร่อนผ่านไทย16มีค.ชี้โอกาสตกไทย 0.1% อย่ากังวล “ไฮดราซีน” ก่อมะเร็ง

“จิสด้า” ยกทีมส่องเทียนกงผ่านไทยคืน16มีค.ชี้โอกาสตกไทย 0.1% อย่ากังวล “ไฮดราซีน” ก่อมะเร็ง

วันที่ 10 มีนาคม นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.)กล่าวว่า จิสด้า ได้ติดตามสถานการณ์สถานีอวกาศเทียนกง-1 สถานีอวกาศขนาด 8 ตัน ของประเทศจีน ซึ่งหมดอายุการใช้งาน และกำลังจะตกลงสู่โลกเร็วๆนี้ อย่างใกล้ชิดโดยร่วมกับองค์กรอวกาศจากประเทศต่างๆ และขณะนี้สถานีอวกาศอวกาศเทียนกงมีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 246 กิโลเมตรจากพื้นโลก คาดว่าจะตกสู่พื้นโลกในวันที่ 10 เมษายน 2561 ซึ่งจะมีการแตกเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็ก และหลงเหลือสู่พื้นโลกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศที่มีความร้อนสูงจนทำให้โลหะต่างๆ เกิดการระเหิดและกลายเป็นไอในที่สุด ทั้งนี้ โอกาสที่ชิ้นส่วนจะตกในพื้นที่ของประเทศไทยมีน้อยกว่าร้อยละ 0.1

สถานีอวกาศเทียนกง-1

Advertisement

นายอานนท์ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ เว็บเพจข่าวแห่งหนึ่ง ออกมาระบุว่า สถานีอวกาศเทียนกงมีความเสี่ยงที่จะตกในพื้นที่ประเทศไทย และมีสารเคมี ชื่อ สารไฮดราซีนอยู่จำนวนมากบนสถานีอวกาศเทียนกง หากสถานีอวกาศตกลงมาบนโลก จะทำให้สารเคมีดังกล่าวแพร่กระจายออกไป อาจจะส่งผลให้คนที่สัมผัสกับสารเคมีชนิดนี้เป็นมะเร็งได้นั้น ขอชี้แจงว่า สำหรับกรณีสารไฮดราซีน (Hydrazine) ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการขับดันจรวด ที่ กังวลว่าจะเป็นสารก่อมะเร็งนั้น ขอเรียนว่า ปกติสารดังกล่าวเป็นสารเคมีที่มีการใช้ในภาคอุตสาหกรรมทั่วไปอยู่แล้ว แต่การที่จะก่อให้เกิดเป็นมะเร็งในมนุษย์ได้นั้น ร่างกายจะต้องรับการสัมผัสหรือสูดดมสารนั้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือในปริมาณที่มากพอ หากพี่น้องประชาชนประสบเหตุมีวัตถุตกจากอากาศ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสและรีบแจ้งต่อหน่วยงานราชการ เช่น สถานีตำรวจที่ใกล้เคียง หรือหน่วยงานของกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ เพื่อเข้าตรวจสอบและเก็บกู้ได้อย่างทันท่วงที

นายอานนท์ กล่าวว่า ปกติแล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์จะออกแบบสร้างดาวเทียม หรือสถานีอวกาศ ย่อมมีการคำนวณปริมาณของ สารไฮดราซีน สำหรับการโคจรตั้งแต่แรกใช้จนกระทั่งหมดอายุการใช้งานในปริมาณที่พอดีอยู่แล้ว ซึ่งโดยรวม เมื่อวัตุพวกนี้ โคจรเข้ามาใช้ชั้นบรรยากาศก็จะถูกเผาไหม้หมด ยกเว้นโครงการขนาดใหญ่มากๆ อาจจะมีโครงสร้างบางอย่างเล็ดลอดออกมา

Advertisement

เมื่อถามว่า กรณีของสารไฮดราซีน จากสถานีอวกาศเทียนกงนั้น ถือว่าน่ากังวลหรือไม่ นายอานนท์ กล่าวว่า หากไม่ตกในประเทศไทย ก็ไม่น่ากังวล ทั้งนี้โอกาศที่สถานีอวกาศเทียนกงจะตกในประเทศไทยมีแค่ 0.1 % เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เวลานี้ ทีมงานติดตามการเคลื่อนที่สถานีอวกาศเทียนกงของจิสด้า ได้สอบถามไปยังสำนักงานอวกาศของประเทศจีนแล้ว ว่า เวลานี้ สถานีอวกาศเทียนกงนั้น มีปริมาณ สารไฮดราซีนเหลืออยู่เท่าไร

อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

“เราก็ยังบอกไม่ได้ว่า จนที่สุดแล้ว เทียนกงจะตกลงมายังจุดไหนของโลก เพราะ เมื่อวัตถุเข้ามาสู่วงโคจรของโลกแล้ว วัตถุจะมีความแฉลบไปแฉลบมาสูงมาก ไม่สามารถคำนวณตำแหน่งได้ชัดเจน ไม่เหมือนขณะที่อยู่บนอวกาศ ที่จะคำนวณได้ค่อนข้างแม่นยำ เช่น ในวันที่ 16 มีนาคม มันจะเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทย ซึ่งทางจิสด้า จะไปสังเกตการณ์กันที่ ดอยอินทนนท์ในวันดังกล่าว แต่เมื่อวัตถุยิ่งเคลื่อนที่เข้าใกล้ และเข้าสู่วงโคจรของโลเมื่อใด ก็จะยิ่งคำนวณตำแหน่งได้ยาก แต่จิสด้าพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกายภาพและการจัดการวัตถุอันตรายเข้ามาในโลก อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำแผนและคู่มือปฏิบัติการ รวมถึงการจัดการชิ้นส่วนที่อาจจะมีไฮดราซีนด้วย เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้เข้าใจและมีแนวทางในการจัดการกับชิ้นส่วนที่อาจจะตกลงมาในประเทศไทย ถึงแม้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจะน้อยมากก็ตาม และติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด”ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image