ลด ‘พิษสุนัขบ้า’ สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย

กลายเป็นข่าวดังในช่วงที่ผ่านมา หลังจากพบว่าสุนัขตายจากโรคพิษสุนัขบ้ามากขึ้นกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -5 มีนาคม 2561 พบสุนัข-แมว เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากว่า 320 ตัว จาก 36 จังหวัด พื้นที่โรคขยายวงออกไปยังตำบล อำเภอ หรือ จังหวัดข้างเคียง ขณะที่ข้อมูลระหว่างปี 2558-2560 เดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ พบโรคโดยเฉลี่ย 40-50 ตัวต่อเดือน แต่ในปี 2561 พบเดือนละ 155-165 ตัว นับเป็นปีที่พบสุนัขและแมวเป็นพิษสุนัขบ้าพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เรียกว่า สูงกว่าข้อมูลเฉลี่ย 3 ปี มากกว่า 3 เท่า

จากการสอบถาม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้คำตอบว่า แม้สถานการณ์ในสัตว์ที่พบหัวสุนัขมีเชื้อพิษสุนัขบ้าจะเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนๆ เพราะช่องว่างที่มีการว่างเว้นการฉีดวัคซีนในสัตว์ หรือจะเป็นเพราะการค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือ สถานการณ์ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้เพิ่มเติม ซึ่งยังสามารถควบคุมได้ เนื่องมาจากทุกภาคส่วนได้มีการสนองพระปณิธานตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ซึ่งแต่ภาคส่วนได้มีการดำเนินการตามหน้าที่และภารกิจของตนเอง เห็นได้จากตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าลดลง จากปี 2559 มีผู้เสียชีวิต 14 ราย ปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตยืนยันจากเชื้อพิษสุนัขบ้า 2 ราย ซึ่งยังเหลืออีก 1 รายอยู่ระหว่างตรวจเชื้อยืนยัน

“แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญจะต้องมีการดำเนินการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนว่า หากถูกกัด เลียแผล หรือน้ำลายสัตว์ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที และโรคนี้ไม่ได้พบได้แค่สุนัข แมว แต่พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆด้วย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขผู้ป่วยที่ไม่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่จำนวนสัตว์ที่พบมากก็ล้วนมาจากความร่วมมือ โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่มีการทำงานเชิงรุกค้นหาสัตว์ที่เสี่ยง รวมไปถึงกรมปศุสัตว์ที่กล้าประกาศเขตระบาดโรคพิษสุนัขบ้า เพราะทำให้เกิดการตื่นตัวและเฝ้าระวังป้องกันมากขึ้น

Advertisement

แน่นอนว่า สิ่งสำคัญจะต้องมีการดำเนินการควบคุม ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพราะจากตัวเลขสุนัขที่ตายจากโรคนี้ ย่อมต้องทำให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องทำงานเชิงรุก ทั้งการสร้างความตระหนักให้คนเข้าใจว่าหากถูกสุนัข หรือแมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ต้องรีบฉีดวัคซีนป้องกัน ขณะที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงก็ต้องมีความรับผิดชอบในการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพราะข้อมูลที่ผ่านมาพบว่ากว่าร้อยละ 50 สุนัขที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างความตระหนักให้คนเข้าใจเรื่องนี้ โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะมีหน้าที่หลักในเรื่องของให้ความรู้ประชาชน และการจัดบริการวัคซีนป้องกันโรคในคน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า มีการดำเนินการมาตลอด โดยเฉพาะโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยกรมควบคุมโรค(คร.) ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2563 ซึ่งยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทางกรมควบคุมโรค คือ ยุทธ์ศาสตร์ที่ 3 ด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน มีเป้าหมายการ ดำเนินงานเพื่อไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า

สำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมและดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน กรมควบคุมโรคเป็นแกนหลักใน การดำเนินงาน โดยใช้กลยุทธ์ 6 ด้าน ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 เฝ้าระวังโรคโดยใช้ข้อมูลครอบคลุมอย่างน้อย 5 มิติ ทั้งข้อมูลทางห้องปฏิบัติการ การเกิดโรค ในสัตว์ ในคน และพฤติกรรม ความรู้ประชาชน กลยุทธ์ที่ 2 ป้องกันโรคในคนโดยส่งเสริมให้มีวัคซีนอย่างเพียงพอ และพัฒนาให้บุคลากรมีความรู้ในการ ดูแลประชาชนอย่างถูกต้อง

Advertisement

กลยุทธ์ที่ 3 ควบคุมเมื่อเกิดโรคในคน โดยใช้มาตรการ 1-2-3 ควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว เน้นค้นหาติดตาม ผู้สัมผัสโรคมารับวัคซีน 100% โดยใช้ “อสม.เคาะประตูบ้าน” กลยุทธ์ที่ 4 บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันรวมทั้งส่งเสริมการนำกฎหมายมาบังคับใช้ กลยุทธ์ที่ 5 ประชาสัมพันธ์กับประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลคนเอง และกลยุทธ์ที่ 6 ศึกษาวิจัยเพื่อส่งเสริมและพัฒนางานด้านอื่นๆ

จากเป้าหมายตามพระปณิธาน คือ ไม่มีผู้เสียชีวิตในปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคได้ดำเนินงานอย่างเข้มข้น เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของพื้นที่ จึงจัดแบ่งพื้นที่เป็น 3 ระดับ ตาม เกณฑ์ดังนี้ 1. พื้นที่สีแดง หรือ จังหวัดเสี่ยงใช้เกณฑ์คือ 1.1 มีผู้เสียชีวิต 3 ปีย้อนหลัง 1.2. มีสุนัขบ้ามากกว่า 50 %ของอำเภอ หรือ 1.3. เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องมีการดำเนินงานบูรณาการครอบคลุมทุกอำเภอ มี 33 จังหวัด จากข้อมูลการเกิดโรคทั้งในปี 2560 และ 2561 พบว่าเกิดในพื้นที่สีแดงทั้งสิ้น จึงขอให้ทุกจังหวัดเร่งรัด การดำเนินงานให้เข้มข้นต่อไป

2.พื้นที่เหลือง หรืออำเภอเสี่ยง คือ อำเภอที่พบโรคพิษสุนัขบ้า 1 ตัวขึ้นไป มี 21 จังหวัด 51 อำเภอ โดย อำเภอที่พบโรคต้องดำเนินการแผนตามมาตรการเชิงรุกที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และ 3. พื้นที่สีฟ้า หรือ พื้นที่เฝ้าระวัง เป็นพื้นที่ยังไม่พบโรค มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่ปลอดโรคต่อไป แนะนำให้ทำแผนเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดโรค

ยังมีข้อค้นพบที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากประชาชนเข้าใจผิดหรือ ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง คือ ร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้าสามารถรักษาให้หายได้ ร้อยละ 33.7 ไม่ทราบว่าหากฉีดวัคซีนไม่ครบชุด ไม่ตรงตามกำหนดนัด อาจตายได้ ถ้าสุนัขที่มากัดเป็น สุนัขบ้า และร้อยละ 32.1 ไม่ทราบว่า การล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง และทายาเบตาดีน ช่วยลด เชื้อที่บาดแผลได้ จะเห็นได้ว่าทุกข้อเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต ประกอบกับการพบสุนัขบ้าระบาดมากขึ้น

“จึงขอฝากเตือน ประชาชน เมื่อสุนัข-แมวกัดข่วนเชื้อจะยังติดอยู่ที่บริเวณบาดแผลต้องรีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ทายาเบตาดีน จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อวินิจฉัยว่าต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ และวัคซีนชนิดนี้มีลักษณะ พิเศษ คือ ต้องรับเป็นชุดจึงจะป้องกันโรคได้ ดังนั้นหากแพทย์นัดหมายจำเป็นต้องไปรับให้ตรงตามนัดทุกครั้ง โปรดระลึกว่า “วัคซีนจะป้องกันโรคจะได้ผลเมื่อฉีดก่อนที่เชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาท หากรอจนเชื้อเข้าไปแล้ว จะ ไม่มีทางรักษาต้องเสียชีวิตทุกราย” นพ.สุวรรณชัย กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image