สกู๊ปพิเศษ : ‘สมุย-พะงัน-เต่า’ สวย-เสี่ยง’เสื่อม’

ใครๆ ก็รู้จัก เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ในนาม “เกาะสวาท หาดสวรรค์” เพราะมีหาดสวย น้ำทะเลใส ดำน้ำลงไป ใต้น้ำก็มีโขดหิน ปะการังงดงาม ผู้คนอัธยาศัยดี สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ถูกต้องแค่บางส่วนเท่านั้น เพราะความจริงที่ปรากฏในวันนี้ก็คือ ความสวยงามของทั้ง 3 เกาะ ไม่ได้เต็มร้อยเหมือนเมื่อก่อนหน้านี้เสียแล้ว

เกาะสมุยมีเนื้อที่ 227 ตารางกิโลเมตร หรือราว 1.4 แสนไร่ มีประชากรอยู่ราว 6 หมื่นคน ไม่นับประชากรแฝง และนักท่องเที่ยวทุกชาติทุกภาษา ที่เข้ามาเที่ยวอีกปีละ 1 ล้านคน หรือวันละประมาณ 3,000 คน

ส่วนเกาะพะงัน แฝดของเกาะสมุย เนื้อที่ 1 แสนไร่ ประชากรกว่า 1.6 หมื่นคน นักท่องเที่ยวเข้ามาวันละ 2,100 คน

เกาะเต่า เนื้อที่เพียง 11,704 ไร่ นักท่องเที่ยวเข้ามาวันละ 2,350 คน

Advertisement

ทั้ง 3 เกาะมีสาธารณูปโภคเกิดขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไม่ต่างจากดอกเห็ด

ใครจะไปคิดว่าพื้นที่น้ำล้อมรอบอย่างเกาะสมุยนั้นจะมีห้างสรรพสินค้าถึง 6 แห่ง

ไม่นับร้านมินิมาร์ท 24 ชั่วโมง ที่มีถึง 80 ร้านด้วยกัน มีรีสอร์ตและโรงแรมน้อยใหญ่ รวมกันถึง 795 แห่ง

Advertisement

เกาะพะงันก็ไม่ได้น้อยหน้ามากนัก มีห้างสรรพสินค้า 3 แห่ง มินิมาร์ทอีก 20 ร้าน รีสอร์ตและโรงแรม รวมกัน 292 แห่ง

ขณะเดียวกัน การกำจัดเศษซากของเสียที่เกิดจากการเข้ามาท่องเที่ยว การบริโภคทรัพยากรของทั้ง 3 เกาะ มีน้อยมาก

ข้อมูลเบื้องต้น ก่อนที่ทาง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะลงพื้นที่สำรวจ จนกระทั่งมีการประกาศใช้มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ขึ้นมาเพื่อคุ้มครอง ให้พื้นที่ทั้ง 3 เกาะ อยู่รอดปลอดภัยจากการถลุงทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งโดยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากทั้ง 3 เกาะ มีกิจกรรมของชุมชนนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้น น้ำเสียที่เกิดขึ้น จึงเป็นน้ำเสียจากชุมชน โรงแรม ที่พักและสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว

การจัดการน้ำเสียในพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลกระทบต่อปะการังน้ำตื้นและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้เสื่อมโทรมด้วยปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพราะสถานประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ และ มีข้อจำกัดของพื้นที่ไม่สามารถก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสียมาบำบัดยังระบบรวมได้

ปัญหาขยะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เกาะเต่ามีขยะเกิดขึ้นประมาณวันละ 20-30 ตัน ขึ้นอยู่กับฤดูการท่องเที่ยวของแต่ละเดือน ส่วนใหญ่เป็นขยะจากนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้ที่เป็นขยะรีไซเคิลที่มีมูลค่า สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมไปถึงเศษอาหารที่เป็นขยะอินทรีย์ด้วย ปัจจุบันมีขยะมูลฝอยถูกเทกองทิ้งตกค้างอยู่บนพื้นที่เกาะเต่าเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ปริมาณขยะประมาณสะสม 42,000 ตัน

สำหรับเกาะสมุย พบขยะมูลฝอยที่ตกค้างบนเกาะมีมากถึง 250,000 ตัน และมีเพิ่มขึ้นทุกวัน สาเหตุจากเตาเผาขยะเสียมานานกว่า 8 ปี

และมีน้ำเสียจากกองขยะไหลลงไปปนเปื้อนแหล่งน้ำธรรมชาติ และสถานประกอบการต่างๆ ยังไม่สามารถกำจัดขยะได้อย่างถูกวิธี

ส่วนเกาะพะงันมีปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ เช่นกัน ปัจจุบันมีขยะถึงปีละ 7,300 ตัน ในขณะที่ใช้วิธีฝังกลบและมีโรงกำจัดขยะที่ช่วยกำจัด แต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี จึงมีขยะตกค้างจำนวนมหาศาล

มาดูเรื่องการทำลายทรัพยากรในพื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้บ้าง พบว่ามีปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีการขยายพื้นที่ที่ทำการเกษตร โดยเข้าไปบุกรุกในพื้นที่ป่าไม้ ราคาที่ดินที่มีราคาสูง เป็นเหตุจูงใจให้มีราษฎรบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ เพื่อขายให้กับนายทุน

ประชาชนบางส่วนขาดจิตสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรป่า มีการทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น

ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงและมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง เกิดปัญหาการแย่งชิงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวประมง
พื้นบ้านและประมงพาณิชย์

ที่น่าหนักใจที่สุดที่ทำให้พื้นที่ทั้ง 3 เกาะตกอยู่ในสภาพเสื่อมเวลานี้ คือ มาจากกิจกรรมท่องเที่ยว ที่มีการตักตวงกันแบบเอาเป็นเอาตายโดยขาดความพอดี

พบว่าเกาะเต่ามีกิจกรรมการท่องเที่ยว ทั้งการดำน้ำผิวน้ำ และการดำน้ำลึก ปัจจุบันมีบริษัทสอนดำน้ำประมาณ 67 แห่ง

ภัยคุกคามที่พบได้แก่ การแล่นเรือ การจอดเรือใกล้แนวปะการัง การขุดร่องน้ำบริเวณแนวปะการัง รวมทั้งการทิ้งสมอในแนวปะการัง

การเหยียบย่ำและตีนกบของนักท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อทรัพยากรปะการัง การเปิดหน้าดินบนเกาะเพื่อการก่อสร้างและพัฒนาต่างๆ การกัดเซาะชายฝั่งจากการสร้างท่าเรือ ขุดลอก ร่องน้ำและก่อสร้างริมทะเล จะทำให้เกิดตะกอนไหลลงสู่ทะเลทับถมบนแนวปะการัง

ทำให้ลดปริมาณแสงและที่จะส่องถึงปะการังทำให้ปะการังเสื่อมโทรมและตายในที่สุด

ทั้งหมดนี้ ไม่นับปัญหาความมั่นคง ความวุ่นวาย ภายในพื้นที่ระบบการจราจร บนเกาะสมุย ที่หาความเป็นระเบียบได้น้อยมาก

เมื่อเทียบกับถนนหนทางที่มีอยู่ นักท่องเที่ยวเช่ารถจักรยานยนต์ออกมาขับเลนผิด เลนถูก เต็มถนน ไร้การควบคุม

มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ระบุว่า กิจกรรมการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งการทิ้งสมอเรือ หรือทอดสมอเรือบริเวณแนวปะการัง ปล่อยและทิ้งน้ำเสีย ก่อสร้าง ขุดและถมดิน ปล่อยตะกอนดินลงสู่ทะเลและชายฝั่ง มีการบุกรุก ยึดถือ ครอบครองพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง

ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสถานภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

หากปล่อยเรื่องนี้ไว้ โดยไม่มีการเข้าไปจัดการ ก็จะทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณดังกล่าวเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้

ทช.จึงกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณพื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย ระงับการกระทำ หรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์ หรือแก้ไข หรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ใครฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

ถึงเวลาแล้วที่ต้องสังคายนาเกาะ “เต่า-พะงัน-สมุย” เพื่อฟื้นฟูให้เป็นเกาะสวาท หาดสวรรค์ เช่นเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image