แพทย์แนะวิธีสังเกตอาการ ‘ปวดกล้ามเนื้อหลังต้นขา’ หรือ ‘ข้อเข่าเสื่อม’

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า อาการปวดบริเวณน่อง คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม แต่แท้จริงแล้วเป็นการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขาบริเวณใกล้น่อง ซึ่งเกิดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อมากเกินไป ทำให้อักเสบ เช่น การวิ่งเร็วหรือการวิ่งเร็วสลับกับหยุดวิ่งแบบฉับพลันอย่างต่อเนื่อง

“การเล่นกีฬาประเภทวิ่งหรือกระโดด ซึ่งพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะนักวิ่ง นักกีฬา นักเต้น พฤติกรรมดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังถูกฉีกกระชาก จนกล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาด และเกิดการอักเสบ รวมถึงการนั่งทำงานเป็นเวลานาน เพราะกล้ามเนื้อต้องอยู่ในท่าที่หดเก ร็งโดยไม่ขยับเขยื้อนนานจนกล้ามเนื้อตึง ทำให้เกิดการแพลงหรืออักเสบได้ง่าย ซึ่งระดับความรุนแรงจากการอักเสบ แบ่งเป็น ระดับเล็กน้อยและหายได้จนถึงกล้ามเนื้อฉีกขาดทั้งหมด และใช้เวลานานในการรักษา สำหรับอาการที่พบจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขา คือ ปวดแปลบที่กล้ามเนื้อต้นขาแบบเฉียบพลัน บวมในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรกหลังได้รับบาดเจ็บ ฟกช้ำ หรือมีสีผิดปกติที่ขาด้านหลังใต้หัวเข่าในช่วง 2-3 วันแรก และกล้ามเนื้อด้านหลังต้นขาอ่อนแรงนานเป็นสัปดาห์” นพ.ณรงค์ กล่าวและว่า อาการข้างต้นจะต่างจากโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการข้อเข่าฝืด ตึง ปวดบริเวณข้อและมีเสียงในข้อเข่าเวลาขยับเคลื่อนไหว เนื่องจากการสึกหรอของข้อต่อภายหลังการใช้งานมานานและอายุที่มากขึ้น

นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวถึงการรักษาผู้ที่มีอาการปวดบริเวณน่องว่า แพทย์ที่ทำการรักษาอาจจำเป็นต้องเอกซเรย์ หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อดูระดับความรุนแรงและตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่ฉีกขาด สำหรับวางแผนรักษาได้ถูกต้อง ซึ่งแบ่งเป็น 3 วิธี 1.รักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยหยุดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นใช้ถุงน้ำแข็งประคบประมาณ 20 นาที อย่าให้น้ำแข็งสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง แล้วพันข้อด้วยผ้าพันแบบยืดหยุ่น และนอนพักยกขาให้สูงเหนือหัวใจเพื่อลดอาการบวม แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ไม้เท้าเพื่อหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักที่ขาหรือใส่เฝือกในช่วงสั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้ขาอยู่ในตำแหน่งปกติ 2.ทำกายภาพบำบัด ด้วยการเหยียดแบบเบาๆช่วยฟื้นฟูช่วงการงอยืดและออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำว่าเมื่อใดจะสามารถกลับไปทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาได้อย่างปลอดภัย และ 3.ผ่าตัด เมื่อเส้นเอ็นฉีกขาดจากกระดูกอย่างสมบูรณ์ และเพื่อซ่อมแซมการฉีกขาดภายในกล้ามเนื้อ

Advertisement

“สำหรับการป้องกันสามารถทำ ได้โดยอบอุ่นร่างกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และผ่อนคลายกล้ามเนื้อก่อนและหลังเล่นกีฬา ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและป้องกันการขาดน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดตะคริว กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายและหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง อีกทั้งเสริมความยืดหยุ่นให้แก่กล้ามเนื้อด้านหลังต้นขาได้ด้วย” นพ.สมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image