สำรวจเหมือง ‘ตะนาวศรี’ มหันตภัยเงียบที่ ‘บานชอง’

อีก 2 เดือนจะครบ 1 ปี หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) บริษัท อีสต์สตาร์ของไทย และชาวบ้านในเขตบานชอง แคว้นตะนาวศรี ทำข้อตกลงร่วมกัน 11 ข้อ เรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์บานชอง

10 เดือนที่ผ่านมา ปัญหานับแต่เปิดทำเหมืองในปี 2555 แทบไม่ได้รับการแก้ไข มีเพียงทำแบบขอไปที ส่งผลให้ชาวบ้าน ”กุน ชองยี”Ž ซึ่งอยู่ติดเหมือง ยังคงเผชิญปัญหามลภาวะทั้งในน้ำและอากาศต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อยๆ

นั่นทำให้กลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยง ”ตากะโปว”Ž (Tarkapaw Youth Group) ประสานงานกับ ”เสมสิกขาลัย”Ž มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ช่วยจัดหานักวิชาการมาให้ความรู้และคำแนะนำแก่ชาวบ้านเพื่อรับมือผลกระทบดังกล่าว

8 มีนาคมที่ผ่านมา ดร.อาภา หวังเกียรติ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ทีมงานเสมฯ และน่อ คลี เจ้าหน้าที่ตากะโปว ลงพื้นที่เหมืองถ่านหินไซต์ 2 ร่วมกับชาวบ้าน

Advertisement

ขุมเหมืองกินพื้นที่ 155 ไร่ อยู่บนเขาห่างบ้านเรือนตั้งแต่ 300 เมตร จน 3-4 กิโลเมตร มีบ่อบำบัดน้ำเล็ก 2 ด้านคอยกักเก็บมิให้สารอันตรายไหลลงลำห้วย 2 สายข้างหมู่บ้านกุน ชองยี บริเวณเชิงเขามีถ่านหินลิกไนต์ประมาณ 20,000 ตัน กองอยู่โล่งโจ้ง

เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาเหนือขุมเหมือง มีร่องรอยการใช้รถแบ๊กโฮตักดินกลบปิดเปลวไฟจากถ่านหินที่มักคุกรุ่นเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน คณะต้องใช้หน้ากากปิดปาก-จมูกป้องกันกลิ่นคล้ายกำมะถันจากการเผาไหม้ใต้ภูเขาที่ยืนอยู่ กลิ่นแรงมากจนรู้สึกแสบจมูก บางจุดร้อนระอุ บริเวณจุดกลบฝังพบรอยแตกมีควันไฟบางๆ ลอยขึ้นมา

Advertisement

เรายังเห็นร่องน้ำจากรอบภูเขาไหลลงไปด้านล่างลงสู่บ่อบำบัดและลำห้วย ไม่นับน้ำใต้ดินที่แทรกซึมจากขุมเหมืองลงแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคทุกวัน

หลายคนในคณะตกใจระคนทึ่งที่คนในหมู่บ้านกุน ชองยีผ่าน 5 ปี อันแสนทรมานมาได้

คนได้รับผลกระทบมากที่สุดในหมู่บ้านคือ ”ปาน พิว”Ž และ “ฮา เมียะ”Ž สองสามีภรรยา ซึ่งสูญเสียทารกวัย 3 และ 5 เดือนในครรภ์ไปในปี 2559 และ 2560 บ้านของทั้งคู่ห่างจากเหมืองแค่ 300 เมตร ลำห้วยข้างบ้านรับน้ำที่ไหลซึมลงมาทางเหมืองเต็มๆ




“ปาน พิวŽ” เล่าว่า ตั้งแต่รู้ว่าเมียท้อง ไม่ได้ให้ทำงานหนักเลย ให้นอนพักที่บ้าน จึงอยู่กับกลิ่นกำมะถันมากบ้างน้อยบ้างอย่างต่อเนื่อง ไม่นานเริ่มมีอาการปวดหัว ความดันสูงเป็นระยะ ก่อนแท้งมีอาการทรุดเกือบตายถ้าไม่ได้หมอตำแยและแพทย์แผนปัจจุบันช่วย

”ผมอยากไล่เหมืองออกเดี๋ยวนี้เลย ทนไม่ไหวแล้ว ถ้าเขาไม่แก้ไข เราต้องหาคนที่มีความสามารถมาแก้ไขŽ” ปาน พิว กล่าวด้วยความเชื่อว่า ควันและกลิ่นกำมะถันคือต้นเหตุให้เขาสูญเสียลูกไปถึง 2 คน

นับแต่การแท้งของ ”ฮา เมียะ”Ž ครั้งสุดท้าย 5 ครอบครัวในละแวกนี้ไม่มีทารกเกิดใหม่อีกเลย

 

ถัดมา เราพบกับ ”หม่อง โย้ว”Ž และ “พอ ละวา”Ž ลุงกับป้าที่ทนสูดกลิ่นเหม็นอยู่ 1 ปี ไม่ไหว จึงต้องทิ้งบ้านและสวนข้างขุมเหมือง ย้ายออกไปอยู่ใกล้โบสถ์คริสต์ห่างเหมืองไปราว 4 กิโลเมตร หม่องโย้วเล่าว่า ควันและกลิ่นมีเกือบทุกวัน เมื่อสูดเข้าไปนานๆ หายใจไม่ปกติ เหนื่อยหอบง่าย มึนหัว มิหนำซ้ำเมียยังป่วยด้วยโรคผิวหนังเป็นปื้นดำทั้งตัว

จากบ้านเรือนติดเหมือง เราย้อนกลับมาที่โรงเรียนบานชอง ติดกับโบสถ์ เจ้าหน้าที่ตากะโปวจัดเวทีให้ความรู้เรื่องมลพิษจากเหมืองถ่านหิน มีชาวบ้านอุ้มลูกจูงหลานเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 30 คน ชายหญิงกว่า 6 คน ลุกขึ้นเล่าอาการผิดปกติทางร่างกายและอาการเจ็บป่วยของตัวเองและคนในครอบครัว พอประมวลผลตามห้วงเวลาแล้วให้เจ้าหน้าที่ตากะโปวบันทึกเป็นตารางบนกระดานดำ (ดูตารางประกอบ)

“ซอ เต็ง อู”Ž อดีตครูใหญ่บานชอง ยังได้นำผลการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ของเอ็นจีโอพม่าชื่อ “Alarm”Ž มาให้ ดร.อาภาพิจารณา พบว่าค่าต่างๆ ของสารหลายตัวสูงกว่าค่าความปลอดภัยมาตรฐาน สารทุกตัวเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หากผ่านเข้าไปทางการหายใจ ผิวหนัง และดื่มกิน

ชาวบ้านยังถาม ดร.อาภาถึงแนวทางแก้ไขปัญหา ดร.จาก ม.รังสิตตอบว่า ดีที่สุดคือหยุดแหล่งกำเนิดการปล่อยสาร โดยเฉพาะกองถ่านหินปัจจุบันที่อยู่บนเขา เพราะเป็นต้นเหตุให้มลพิษเข้าสู่ร่างกายได้

ดร.อาภาตอบคำถามของ “ซอ นุยระไน”Ž ผู้ใหญ่บ้านวัย 38 ปี เรื่องอาการหายใจไม่สะดวก และการรักษาอาการป่วยว่า เมื่อสูดดมกลิ่นเข้าไปนานๆ จะมีผลกระทบต่อปอด ขณะที่มีสารบางชนิดต้องเจาะเลือดทุกคนไปตรวจในห้องแล็บจึงจะรู้ว่าเป็นสารอะไร มีอันตรายแค่ไหน และจะรักษาอย่างไร

ผู้ใหญ่บ้านขอร้องให้คณะจากไทยพาแพทย์มาช่วยตรวจร่างกายชาวบ้านทุกคน เพราะหวังพึ่งแพทย์ที่บริษัทพามาเมื่อปีก่อนไม่ได้ นอกจากไม่เจาะเลือดไปตรวจแล้ว ยังให้คำแนะนำเล็กน้อยก่อนจ่ายยาเท่านั้น เจ้าหน้าที่เสมฯและตากะโปวรับไปพิจารณาหาหนทาง ทั้งๆ ที่จริงแล้วควรเป็นหน้าที่ของทางการพม่าและเคเอ็นยู แต่ทั้งสองส่วนกลับไม่ใส่ใจสุขภาวะชาวบ้านที่เริ่มวิกฤต

ใกล้ครบหนึ่งปีหลังทำข้อตกลงร่วมแบบขอไปที แต่กองถ่านหินยังอยู่ ไฟและควันเกิดขึ้นเป็นระยะเหมือนไม่มีวันมอด ชาวบ้าน 110 ครัวเรือน ผู้ใหญ่ 250 คน เด็ก 150 คน ยังต้องเผชิญมหันตภัยเงียบŽ และตกอยู่ในสภาพ “ตายผ่อนส่ง”Ž

ยิ่งนานวันเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตพี่น้องชาวกะเหรี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image