อดีตรองผู้ว่ากทม.ห่วง แอร์พอร์ตลิงก์วิกฤต! สุดท้ายจะเหลือกี่ขบวน?

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้โพสต์ในเฟชบุ๊ค ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เรื่อง แอร์พอร์ตลิงก์วิกฤต! สุดท้ายจะเหลือกี่ขบวน? มีเนื้อหา ระบุว่า

เป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่งที่เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มีขบวนรถที่สามารถวิ่งให้บริการได้เพียง 5 ขบวน จากทั้งหมด 9 ขบวน ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลารอนาน จนมีผู้โดยสารแน่นชานชาลา เนื่องจากเมื่อมีขบวนรถไฟฟ้ามาจอดก็ไม่สามารถขึ้นได้ทันทีเพราะมีผู้โดยสารเบียดกันแน่นตู้รถไฟฟ้ามาแล้ว ต้องรอขบวนต่อไป ส่งผลต่อระยะเวลาการเดินทางที่ต้องใช้เวลานานขึ้น

ผมได้แสดงความห่วงใยต่อการซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มาโดยตลอดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยได้ชี้ให้เห็นว่าแอร์พอร์ตลิงก์ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการซ่อมบำรุงรักษา กล่าวคือไม่มีการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) หลังจากวิ่งได้ถึงระยะทางที่กำหนดไว้ในคู่มือซ่อมบำรุงรักษา เป็นเหตุให้แอร์พอร์ตลิงก์เสียเป็นระยะๆ ดังที่ทราบกันโดยทั่วไป

ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าหลังจากผมได้เตือนผู้บริหารของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และเป็นบริษัทภายใต้การกำกับดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เข้มงวดกวดขันการซ่อมบำรุงรักษาตลอดมา เพราะผมเป็นห่วงความปลอดภัยของผู้โดยสาร แต่แอร์พอร์ตลิงก์ก็ไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น กลับมาถึงจุดวิกฤตจนได้

Advertisement

แอร์พอร์ตลิงก์เริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 โดยมีขบวนรถไฟฟ้าทั้งหมด 9 ขบวน ประกอบด้วยรถไฟฟ้าด่วน (Express Line) ซึ่งจอดเฉพาะสถานีมักกะสันและสถานีสุวรรณภูมิเท่านั้นจำนวน 4 ขบวน และรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) ซึ่งจอดทุกสถานีจำนวน 5 ขบวน ต่อมามีการปรับเปลี่ยนการให้บริการโดยให้รถไฟฟ้าทุกขบวนจอดทุกสถานี ไม่มีขบวนรถไฟฟ้าด่วน ตลอดการให้บริการที่ผ่านมาปรากฏว่าขบวนรถไฟฟ้าลดลงมาเป็นระยะๆ เนื่องจากรถเสีย ถึงเวลานี้ (ณ วันที่ 29 มีนาคม 2561) มีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่สามารถใช้งานได้เหลือเพียง 5 ขบวน เท่านั้น

ผมได้ตรวจสอบข้อมูลการให้บริการดูพบว่า มีขบวนที่เสีย 3 ขบวน ประกอบด้วย รถไฟฟ้าธรรมดา 2 ขบวน (City 03 และ City 04) และรถไฟฟ้าด่วน 1 ขบวน (Express 03) ขบวนที่อยู่ในระหว่างการซ่อมบำรุงใหญ่ 1 ขบวน (Express 04) และขบวนที่ใช้งานได้ 5 ขบวน ประกอบด้วยรถไฟฟ้าธรรมดา 3 ขบวน (City 01, City 02 และ City 05) และรถไฟฟ้าด่วน 2 ขบวน (Express 01 และ Express 02)

การซ่อมบำรุงรักษาที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า ไม่ว่าจะเกิดจากการไม่มีอะไหล่เก็บสำรองไว้ หรือจากการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้เวลานาน หรือจากสาเหตุใดก็ตาม ย่อมหนีความรับผิดชอบของผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ไปไม่พ้น จะเอาเหตุผลใดมาอ้างก็ฟังไม่ขึ้น เพราะทุกเหตุผลไม่สำคัญกว่าความปลอดภัยของผู้โดยสาร

Advertisement

น่าเห็นใจพนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานซ่อมบำรุงรักษาที่ได้พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการส่งอุปกรณ์ที่เสียไปซ่อมแถวคลองถมแทนการรออะไหล่จากต่างประเทศซึ่งต้องใช้เวลานาน ทำให้สามารถซ่อมรถไฟฟ้าเสร็จไปแล้ว 1 ขบวน ส่งผลให้มีรถไฟฟ้าที่สามารถให้วิ่งบริการได้ ณ วันที่ 30 มีนาคม 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 6 ขบวน

หากการซ่อมบำรุงรักษายังคงดำเนินไปในลักษณะนี้ โอกาสที่รถไฟฟ้าจะเสียอีกบ่อยๆ ก็ยังคงมีอยู่ สุดท้ายจะเหลือรถไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการได้กี่ขบวน เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นก็คืออุบัติเหตุจากการซ่อมบำรุงรักษาที่ไม่ดีพออาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น

แม้ว่าที่ผ่านมาในช่วงรัฐบาลนี้ได้มีการเปลี่ยนคณะกรรมการและผู้บริหารของแอร์พอร์ตลิงก์มาหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่การให้บริการของแอร์พอร์ตลิงก์ก็ยังไม่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมือผ่าตัดการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์เสียที ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก สบาย และปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสำคัญ

ผมเป็นห่วงผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ทุกคนครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image