ย้ำ! ‘ต่างด้าว’ ลงทะเบียนออนไลน์ ทำประวัติ-ขออนุญาตภายใน30มิ.ย.

กรณีที่กระทรวงแรงงาน เปิดให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า กัมพูชา และลาว ลงทะเบียนทำประวัติและขออนุญาตทำงานในราชอาณาจักรที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 แต่มีแรงงานต่างด้าวบางส่วนที่ไม่สามารถลงทะเบียนดำเนินการที่ศูนย์โอเอสเอสได้ทันเวลานั้น

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการเพื่อให้กระบวนการดำเนินการในศูนย์โอเอสเอสเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ทันเวลา โดยมีการวางแผนการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้มีการปรับกระบวนการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 กำหนดให้แรงงานนำใบเสร็จรับเงินค่าตรวจสุขภาพและค่าประกันสุขภาพเป็นหลักฐานแทนใบรับรองแพทย์ เมื่อผลตรวจออกมาแล้วให้ใช้ใบรับรองแพทย์ ระยะที่ 2 ลดขั้นตอนโดยให้แรงงานตรวจลงตรา (ตีวีซ่า) และขออนุญาตทำงานก่อน แล้วจึงนัดไปจัดทำใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) ในภายหลัง รวมทั้งเพิ่มเวลาการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ระยะที่ 3 เพิ่มช่องทางโดยรับลงทะเบียนกลุ่มที่ยังตกค้างไม่สามารถดำเนินการภายในศูนย์โอเอสเอสได้ทันเวลาที่กำหนดทางระบบออนไลน์ www.doe.go.th หรือทางเอกสารที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในส่วนภูมิภาค ทั้งยังมีการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการเพื่อรับลงทะเบียนออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 เวลา 24.00 น. แล้วจึงมาจัดทำทะเบียนภายหลัง โดยกระทรวงแรงงานจะส่งข้อความสั้น (SMS) กำหนดวัน เวลา นัดหมายไปให้นายจ้างเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561

“ผลการดำเนินงาน คือ แรงงานต่างด้าวมาดำเนินการทั้งหมด จำนวน 1,320,035 คน คิดเป็นร้อยละ 96 คงเหลือที่ไม่มาดำเนินการเพียง 59,217 คน คิดเป็นร้อยละ 4 เท่านั้น และมีการลงทะเบียนทางออนไลน์ จำนวน 190,056 คน ทั้งนี้ ผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนก็ไม่สามารถอยู่ต่อหรือทำงานต่อไปได้ แต่หากประสงค์จะทำงานต่อไปก็ต้องเดินทางกลับออกไปก่อนและกลับเข้ามาใหม่ตามระบบเอ็มโอยู (MOU)” นายอนุรักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายอนุรักษ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานได้มีการประสานงานกับประเทศต้นทางเพื่อให้การนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบเอ็มโอยู สามารถรองรับความต้องการแรงงานของนายจ้างและสถานประกอบการได้อย่างเพียงพอ โดยปรับลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายให้มีความเหมาะสม เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด คุ้มค่า ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ 1.นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการเอง 2.นายจ้างมอบอำนาจให้ ผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศดำเนินการ โดยนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานแต่ยังไม่มีแรงงานต่างด้าว สามารถดำเนินการได้โดยยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ การนำเข้าตามระบบเอ็มโอยู เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้แรงงานได้รับความคุ้มครองและดูแลเหมือนเช่นคนไทย และเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image