เปิดแนวคิด ‘ธนาคารเวลา’ž รองรับผู้สูงวัยž

เป็นอีกหนึ่งแนวทางเตรียมความพร้อม “สังคมสูงวัย” ที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี มอบให้กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ศึกษาและนำรูปแบบธนาคารเวลาของต่างประเทศมาปรับใช้กับประเทศไทย

ล่าสุด กรม ผส.ได้จัดประชุมกำหนดเรื่องธนาคารเวลาเป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนเตรียมพร้อมสังคมสูงวัย และได้ตั้งคณะทำงานมาศึกษาแนวทางดังกล่าวแล้ว

นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดี ผส.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันมีประชากรสูงวัยประมาณ 10.8 ล้านคน หรือคิดเป็น
ร้อยละ 16.5 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากการประมาณการประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าปี 2564 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ (Aged society) คือมีผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นสัดส่วนเท่ากับ หรือมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และถัดจากนั้นอีก 10 ปี คือปี 2574 ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) คือมีผู้ที่อายุ 60 ปี เป็นสัดส่วนเท่ากับ หรือมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ

ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ

จากสถานการณ์สังคมสูงวัยที่รุกคืบ ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้สูงอายุมีบุตรน้อยลง อยู่ในครอบครัวเดี่ยว จึงจำเป็นต้องให้คนทุกช่วงวัยมาร่วมตระหนักในสถานการณ์นี้ และทำให้เกิดธนาคารเวลา ซึ่งปัจจุบันใช้แพร่หลายใน 40 ประเทศทั่วโลก

Advertisement

อธิบดี ผส.อธิบายว่า คือการสะสมเวลาไว้ในรูปแบบบัญชีส่วนบุคคล เพื่อเบิกออกมาใช้ในยามจำเป็นตอนอายุมากขึ้น หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และต้องการความช่วยเหลือ

“อย่างในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐ พบว่าประชาชนทั่วไปสามารถสะสมเวลาไว้ในธนาคาร ด้วยการให้บริการและดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ เช่น ทำหน้าที่ปรนนิบัติ พาไปเดินตลาดเพื่อช่วยซื้อสิ่งของเครื่องใช้ ทำความสะอาดบ้าน พาผู้สูงอายุออกไปสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ นั่งสนทนา ฯลฯ ซึ่งหลังจากให้บริการครบ 1 ปีแล้ว เวลาที่ให้บริการทั้งหมดจะรวบยอดออกมาเป็นตัวเลข และจะได้รับการ์ดสะสมจากธนาคารมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน

“โดยเวลาที่ไปให้บริการจะถูกบันทึกและสะสมไว้ รอจนกระทั่งเมื่อเราแก่ตัวหรือเจ็บป่วย และเมื่อเราต้องการการดูแลจากคนอื่น เวลาที่เราสะสมไว้ในธนาคารเหล่านั้นจะสามารถเบิกออกมาใช้ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า
ผู้สมัครเป็นสมาชิกจะต้องมีร่างกายแข็งแรง สามารถสื่อสารกับคนอื่น มีจิตใจรักการบริการ มีเวลาเพียงพอที่จะให้บริการผู้สูงอายุŽ”

Advertisement

นางธนาภรณ์กล่าวอีกว่า จริงๆ ประเทศไทยก็มีการดำเนินการในลักษณะคล้ายธนาคารเวลาอยู่บ้าง อย่างธนาคารความดี ที่ทำกิจกรรมสานสัมพันธ์กับกลุ่มเด็กเล็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ แล้วนำบันทึกคะแนนเหล่านั้นมาแลกรับผลประโยชน์ อาทิ สิ่งของอุปโภคบริโภค
ซึ่งทำในหลายพื้นที่

ขณะที่การดูแลผู้สูงอายุโดยตรง ปัจจุบันเรามีกลไกอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (อผส.) ซึ่งดูแลผู้สูงอายุในชุมชน อาทิ ดูแลปรนนิบัติ ช่วยเหลืออำนวยความสะดวก อยู่เป็นเพื่อนคลายเหงา พาผู้สูงอายุไปออกกำลังกาย ฯลฯ ครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศแล้ว แต่เป็นการทำในลักษณะจิตอาสาไม่หวังผลตอบแทน ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนธนาคารเวลาให้เกิดขึ้น การทำจิตอาสาของ อพส.จากนี้ก็จะต้องถูกบันทึกเป็นคะแนน รวมถึงเชิญชวนคนทุกช่วงวัยมาเป็นจิตอาสาดูแลผู้สูงวัย เพื่อนำมาแลกผลประโยชน์ระยะสั้น อาทิ เครื่องอุปโภคบริโภค กิจกรรมทัศนศึกษา และผลตอบแทนระยะยาว ส่งอาสาสมัครดูแลยามเจ็บป่วย พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ขับเคลื่อนผ่านศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ที่มีอยู่แล้ว แต่เพิ่มเติมหน้าที่ในการเป็นธนาคารเวลา

ด้านมุมมองนักวิชาการ รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากร ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกตัวว่ายังไม่ได้ศึกษารายละเอียดในเรื่องธนาคารเวลามากนัก แต่เห็นว่าหากประเทศไทยนำแนวคิดมาใช้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะหากอาสาสมัครที่มาดูแลเป็นเด็กรุ่นใหม่จะทำให้มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น

รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ

“ถือเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและรุนแรง อีกทั้งสังคมไทยปัจจุบันตื่นตัวเรื่องจิตอาสา และเป็นสังคมที่มีน้ำใจต่อกันอยู่แล้ว ในส่วนของธนาคารเวลาเป็นเรื่องของความเอื้ออารีต่อกัน ไม่จำเป็นต้องใช้เงินแต่ใช้ใจ และจะเป็นเรื่องดีอย่างมากหากเหล่าอาสาสมัครที่จะดูแลผู้สูงอายุในระบบธนาคารเวลาคือเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้จะมองเห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุว่าต้องประสบปัญหาอะไรบ้าง จะมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้นและสามารถเตรียมตัวของตัวเองให้พร้อมในวันข้างหน้าเพื่อที่จะเป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดีŽ”

ส่วนข้อเสียใช่ว่าจะไม่มี รศ.วิพรรณมองว่า ประเทศไทยจะต้องศึกษาระบบให้ลึกซึ้งว่ามีการเก็บเวลาอย่างไร ใช้วิธีการไหนในการเก็บข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลอย่างไรว่าข้อมูลที่อยู่ในระบบนั้นไม่บิดเบือน ต้องมีฐานข้อมูลที่เที่ยงตรงไม่มีการโกงเวลาเกิดขึ้น ผู้เข้าร่วมธนาคารเวลามีความจำเป็นที่จะต้องอบรม ทำความเข้าใจผู้สูงอายุทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจ เพราะผู้สูงอายุทุกคนมีความต้องการที่หลากหลาย การเจ็บป่วย การดูแลรักษาผู้สูงอายุไม่มีความเหมือนกัน

“จากความเข้าใจเบื้องต้น ธนาคารเวลาจะเป็นการดูแลคนอื่นแล้วเก็บสะสมเวลามา แต่ในกรณีที่เป็นการดูแลบุคคลในครอบครัวตัวเอง พ่อแม่ ญาติพี่น้องของตน ในจุดนี้จะได้รับเวลาจากธนาคารหรือไม่ เพราะบางคนใช้เวลาหลายปีในการดูแลคนในครอบครัวของตน จะต้องคิดรูปแบบระบบมารองรับในจุดนี้ด้วย เช่น ให้เวลาไป 1/3 กับบุคคลเหล่านี้ เป็นต้น เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การโกงž ผู้เข้าร่วมกับธนาคารเวลาในการเป็นจิตอาสาต้องจดบันทึกข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงนี้จึงเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ ซื่อตรง จะทำอย่างไรให้รู้ว่าผู้ที่มาดูแลผู้สูงอายุดูแลตามเวลาที่บอกไปจริงไม่มีการบังคับให้ผู้สูงอายุเซ็นเกินเวลาที่ดูแลไปŽ” รศ.วิพรรณกล่าว

นับเป็นสัญญาณดีหากมีการนำระบบนี้มาใช้จริง แต่ต้องทำให้ระบบมีความซื่อตรง เที่ยงธรรม จึงจะเกิดประโยชน์แท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image