ป่วยฉุกเฉิน72ชม.เข้ารพ.รัฐก่อน สปสช.ลั่นไปเอกชนไม่จ่าย

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 10 เมษายน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการหยุดยาวต่อเนื่องกันตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายนนี้ ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา ทั้งนี้ หากเกิดการเจ็บป่วยในช่วงเวลาดังกล่าวจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients :UCEP) ฟรี 72 ชั่วโมงแรก ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่หากไม่สามารถหาเตียงให้ได้ แต่ละกองทุนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยในระบบของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำว่าให้ไปโรงพยาบาลรัฐใกล้จุดเกิดเหตุก่อน อย่ามุ่งแต่จะไปโรงพยาบาลเอกชนแทน จะถือว่าไม่เข้าเกณฑ์การใช้สิทธิเพื่อเบิกจ่าย

“ที่เรากำหนดให้เข้าโรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่เกิดเหตุก่อน หากข้ามไปโรงพยาบาลเอกชน จะไม่เข้าเกณฑ์การเบิกจ่ายตามสิทธิ เพราะแม้ว่าจุดเกิดเหตุจะใกล้กับโรงพยาบาลรัฐขนาดเล็ก ก็ต้องนำเข้าโรงพยาบาลนั้นก่อน ซึ่งสามารถให้การดูแล ปฐมพยาบาลได้ เพราะได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ลดการเสียชีวิต หรือพิการจากเหตุฉุกเฉินวิกฤตนั้นได้ ดีกว่าการมองข้ามว่าเป็นโรงพยาบาลเล็กแล้วข้ามไปเขตไปถึงโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่กว่า แต่ไกลกว่า แบบนั้นยิ่งเสี่ยงเสียชีวิต หรือพิการได้ เพราะเสียเวลาในการเดินทาง ไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า 2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤต หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่น แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่ถึงขั้นฉุกเฉินแก่ชีวิต กรณีนี้สามารถเข้าโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช.โทร.1330 ขณะที่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.สายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้มีกรณีกู้ชีพ กู้ภัยรับค่าตอบแทนจากโรงพยาบาลเอกชนเมื่อส่งต่อผู้ป่วย แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถลงโทษใครได้เพราะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ส่วนประชาชนหากไม่ได้รับการดูแลที่ดี ให้ประสานมาที่ศูนย์ประสานคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 0 2872 1669

“อย่างไรก็ตาม การที่สปสช.ออกกฎไม่จ่ายเงินหากถูกนำส่งโรงพยาบาลเอกชน แทนการนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลรัฐใกล้ที่เกิดเหตุ เพราะเคยมีกรณีกู้ชีพนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลเอกชนที่ไกลจากที่เกิดเหตุจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่ตรงนี้อาจจะเป็นเพราะกู้ชีพคิดว่าโรงพยาบาลเอกชนมีศักยภาพมากกว่าก็ได้ แต่ สพฉ.ก็ไม่สามารถดูทุกจุดได้” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image