คพ. เตือนโรงน้ำแข็งระวังการรั่วไหลก๊าซแอมโมเนีย ในช่วงฤดูร้อน

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ

คพ. รวมสถิติเหตุรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียของโรงน้ำแข็ง ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 มีอัตราสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2560 และในช่วงฤดูร้อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ความต้องการบริโภคน้ำแข็งมากกว่าช่วงเวลาอื่น จึงแจ้งเตือนผู้ประกอบการ หากเร่งกำลังการผลิตมากขึ้น จะทำให้ระบบทำความเย็นทำงานหนัก เพิ่มความเสี่ยงในการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียจากความบกพร่องของอุปกรณ์ การรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียมีความเป็นพิษต่อระบบการหายใจ และกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. ได้รวบรวมสถิติการเกิดอุบัติภัยสารเคมีในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 พบว่ามีเหตุรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียเกิดขึ้นแล้ว จำนวน 6 ครั้ง ซึ่งมีอัตราสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2560 ที่ในรอบปีเกิดเหตุรั่วไหลฯ ขึ้นเพียง 7 ครั้ง และอาจจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนซึ่งอากาศร้อนและเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ จึงทำให้มีความต้องการบริโภคน้ำแข็งมากกว่าช่วงเวลาอื่นของปี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะเร่งกำลังการผลิตมากขึ้น ทำให้ระบบทำความเย็นทำงานหนัก จึงเพิ่มความเสี่ยงในการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียจากความบกพร่องของอุปกรณ์ เช่น วาล์วรั่ว ท่อขนส่งแตกหรือประเก็นรั่ว เป็นต้น และเนื่องจากส่วนใหญ่โรงงานน้ำแข็งเป็นกิจการเก่าแก่และมักตั้งอยู่ในชุมชนหนาแน่นพอสมควร ดังนั้นการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียซึ่งมีความเป็นพิษต่อระบบการหายใจ จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งหากมีน้ำเสียจากการดับเพลิงหรือการดักจับก๊าซแอมโมเนียถูกปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะสามารถทำให้ปลาและสัตว์น้ำตายได้ เนื่องจากแอมโมเนียมีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำและทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำลดลง

นางสุวรรณา กล่าว่า คพ. จึงขอความร่วมมือสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-16 เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พร้อมแจ้งเตือนผู้ประกอบการโรงงานน้ำแข็งให้เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจการในช่วงฤดูร้อน ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น คพ.ได้จัดทำเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซแอมโมเนีย อาทิ ความเป็นอันตรายจากการรับสัมผัสทางการหายใจ ผิวหนังและดวงตา แนวทางการปฐมพยาบาลผู้ได้รับผลกระทบ และแนวทางการพิจารณาอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้หน่วยงานท่านได้ใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการกู้ภัยของหน่วยงานท้องถิ่น ตามภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฯ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.pcd.go.th/Public/News/Files/News20180411_01.pdf และหากมีข้อสงสัยประการใดหรือต้องการคำปรึกษา แนะนำ สามารถติดต่อได้ที่สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย หมายเลขโทรศัพท์ 02 298 2380 ในวันและเวลาราชการ หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1650 ตลอด 24 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image