‘นักเทคนิคการแพทย์’ ชี้กม.เงินทดแทนเป็นความหวัง หลังเป็นอีกวิชาชีพเสี่ยงจากการทำงาน  

ตามที่สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับ พ.ศ…ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงเพิ่มสิทธิจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยจ่ายเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 70 ของเงินเดือน จากเดิมร้อยละ 60 และหากทุพพลภาพจ่ายให้ตลอดชีวิต จากเดิม 15 ปี โดยขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ประชุมแล้ว 3 ครั้ง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และน่าจะประกาศใช้ประมาณเดือนตุลาคม ส่งผลให้ลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันมีแทบทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นลูกจ้างชั่วคราวจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 16 เมษายน  รศ.ยุพา เอื้อวิจิตรอรุณ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า เห็นด้วยและยินดีกับการผลักดันร่างกฎหมายเงินทดแทน เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างส่วนราชการ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มี อย่างกลุ่มนักเทคนิคการแพทย์ที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวนั้น มีความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน เพราะต้องทำหน้าที่ตรวจเชื้อ ตรวจสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อวัณโรค น่ากลัวมาก แม้จะมีเครื่องมือในการป้องกัน แต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้หมด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ติดเชื้อจากการทำงาน แม้จะได้รับการดูและรักษาพยาบาลแล้ว  แต่ในส่วนการเยียวยา หรือการจ่ายเงินทดแทนหยุดงานนั้น ไม่มีเลย ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้ถือเป็นกฎหมายที่ดีที่จะให้สิทธิอย่างที่ไม่เคยได้มาก่อน

นางศิริรัตน์ ลิกานนท์สกุล  อดีตนักเทคนิคการแพทย์เชี่ยวชาญ  ข้าราชการบำนาญ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  ในฐานะที่เคยทำงานในกระทรวงสาธารณสุข และปัจจุบันก็ยังปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงฯในตำแหน่งต่างๆอยู่ ทำให้เห็นชัดเจนว่า ปัญหาของนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวมีมากเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ เนื่องจากนักเทคนิคการแพทย์จะทำหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์สารคัดหลั่งต่างๆ ในห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยให้แพทย์ เรียกว่าทำงานคู่กับแพทย์มาตลอด และมีความเสี่ยงมากเช่นกัน โดยเฉพาะการตรวจเชื้อ ตรวจเลือด เพราะแม้จะมีระบบป้องกันภัยเป็นอย่างดี แต่อุบัติเหตุต่างๆเกิดขึ้นได้ ทั้งเข็มเจาะ หรือติดเชื้อ ซึ่งเชื้อที่อันตรายและมีความเสี่ยงติดง่าย   เพราะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ  คือ วัณโรค หรือโรคทีบี(TB) รวมไปถึงเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้หากเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทั้งจ้างรายวัน จ้างรายเดือน หรือจ้างเหมา จะไม่มีสิทธิสวัสดิการในการดูแล ซึ่งตรงนี้น่าห่วงมาก เพราะเท่าที่ทราบยังมีลูกจ้างชั่วคราวที่เป็นนักเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ประมาณ 700-800 คน พวกเขาก็ไม่เคยได้รับสิทธิในการดูแลจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากงาน ยิ่งปัจจุบันก.พ.มีการจำกัดตำแหน่งข้าราชการ ยิ่งทำให้โอกาสในการเป็นข้าราชการของนักเทคนิคการแพทย์ยิ่งน้อยลง ขณะที่ภาระงานก็เพิ่มขึ้น ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องจ้างงานพิเศษ เป็นลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายเดือน หรือรายวันก็มี บางแห่งจ้างเหมาแบบราย 3 เดือน 6 เดือน ตรงนี้น่าเห็นใจมาก ดังนั้น หากมีกฎหมายเงินทดแทนที่ครอบคลุมลูกจ้างส่วนราชการทั้งหมดจริงๆ ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ลูกจ้างได้รับการช่วยเหลือเยียวยามากขึ้น” นางศิริรัตน์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาหากไม่มีกฎหมายดังกล่าว ไม่มีระบบในการตรวจสอบว่าเจ็บป่วยจากงานเลยหรืออย่างไร นางศิริรัตน์ กล่าวว่า การจะตรวจสอบมี แต่กว่าจะตรวจสอบว่าติดเชื้อจากโรคจากการทำงานจริงหรือไม่ ค่อนข้างใช้เวลา และระบบการดูแลระยะยาวก็ไม่ชัดเจนมากนัก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนเคยทำงานในสถาบันบำราศนราดูร ดูแลในเรื่องการป้องกันโรคอีโบลา ในการตรวจวิเคราะห์เชื้อโรคนั้น ตนจะไม่ให้ลูกจ้างชั่วคราวมาทำงานนี้เลย แต่ต้องเป็นข้าราชการ เพราะอย่างน้อยก็มีระบบในการดูแลเยียวยามากกว่า แต่ลูกจ้างไม่มี

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังออกประกาศให้ดูแลผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของรัฐที่ได้รับภาวะติดเชื้อ หรือเจ็บป่วยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยมีคณะกรรมการมา 1 ชุดในการพิจารณาเรื่องนี้ ว่า ภาวะที่เกิดขึ้นส่งผลอย่างไร ก็จะมีการดูแลช่วยเหลือตามการพิจารณาของแต่ละเคส อย่างไรก็ตาม แต่ในเรื่องการจ่ายเงินทดแทน การดูแลในรายละเอียดของร่างกฎหมายเงินทดแทนนั้น ตนยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่หากมีประโยชน์กับลูกจ้างชั่วคราวก็จะเป็นเรื่องดี พร้อมที่จะสนับสนุน เนื่องจากลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงฯ ที่อยู่ตามรพ.ในสังกัดมีอยู่มากเป็นแสนคน ซึ่งที่ผ่านมาแม้กระทรวงฯจะปรับบางส่วนเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มสิทธิให้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้กระทรวงการคลังออกประกาศดังกล่าวแต่ครอบคลุมลูกจ้างทุกประเภทหรือไม่ ทั้งรายวัน รายเดือน และจ้างเหมา พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ตามประกาศได้หมด แต่จ้างเหมา ที่ต้องจ้างบริษัทอื่นอีกทีนั้น ก็จะเป็นหน้าที่ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งเป็นนายจ้างอีกที ส่วนประกาศกระทรวงการคลังจะเป็นในส่วนของการจ้างโดยรัฐ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image