สัตวแพทย์ชี้ ประชากรเหี้ยพุ่งพรวด ศัตรูธรรมชาติน้อยส่วนใหญ่แก่ตาย

สัตวแพทย์ชี้ ประชากรเหี้ยพุ่งพรวด ศัตรูธรรมชาติน้อยส่วนใหญ่แก่ตาย

วันที่ 17 เมษายน นายสัตวแพทย์(น.สพ.) อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตวแพทย์อาวุโส กรรมการวิชาการราชบัณฑิตยสภา ให้สัมภาษณ์เรื่องสถานการณ์ตัวเหี้ย ในประเทศไทยว่า คาดว่าเวลานี้ประชากรจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทั้งในพื้นที่กรุงเทพ และต่างจังหวัดสาเหตุหนึ่งคือ มีอาหาร ซึ่งก็คือ ซากสัตว์ และของเน่าเสียมีปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพ ที่เป็นเขตเมืองแต่มีหลายจุดที่เป็นแหล่งที่อาศัยเดิมของสัตว์ชนิดนี้ เช่น เขตดุสิต สวนสัตว์เขาดิน ทำเนียบรัฐบาล สวนลุมพินี ไม่ค่อยมีเหตุทำอันตรายแก่ตัวเหี้ย เช่น คนล่าไปกิน มีศัตรูโดยธรรมชาติน้อยมาก รวมไปถึงพื้นที่ชานเมือง เช่น บางขุนเทียน และ จังหวัดปริมณฑล คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีบ่อเลี้ยงปลาจำนวนมาก ตัวเหี้ยมักจะลักลอบเข้าไปกินปลาในบ่อเลี้ยง มีอาหารค่อนข้างอุดมสมบูรณ์

“สาเหตุที่จะทำให้ตัวเหี้ยตายมากที่สุดคือการกัดกันเอง ซึ่งเทียบกับปริมาณที่มีอยู่แล้ว และอัตราการเกิด ซึ่งเหี้ย 1 ตัวจะวางไข่ครั้งละ 20-30 ฟอง ปีละ 1 ครั้ง มีอัตราการรอดตายประมาณ 5 ตัว ถือว่าอัตราการตายน้อยมากเมื่อเทียบกับการเกิด ส่วนใหญ่จะแก่ตายไปเอง ซึ่งเหี้ยจะมีอายุขัยอยู่ที่ 15-20 ปีโดยเฉลี่ย โดยเหี้ยแก่ใกล้ตายนั้นจะไม่ทำอะไรเลย นอนซึม ไม่หาอาหาร ผอมแห้งลงไปเรื่อยๆ แต่เนื่องจากการสะสมไขมันไว้ปริมาณมาก ร่างกายจะดึงไขมันออกมาใช้ที่ละน้อยจนกว่าจะหมด ซึ่งใช้เวลานานนับเดือน”น.สพ.อลงกรณ์ กล่าว

น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่เคยมีการร้องเรียนกันว่า ประชากรตัวเหี้ยในพื้นที่สวนลุมมีจำนวนมากเกินไป อาจจะทำอันตรายกับประชาชนที่เข้าไปพักผ่อนออกกำลังกายได้ จนทำให้กรุงเทพมหานคร(กทม.)ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องเข้าไปจับออกมาส่วนหนึ่งแล้วเอาไปปล่อยในป่าแห่งหนึ่งนั้น เข้าใจว่า เวลาผ่านไปจนกระทั่งวันนี้ จำนวนประชากรตัวเหี้ยในสวนลุม กลับมาเหมือนเดิมแล้ว เพราะ 1.มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว 2.ตัวเหี้ยที่อาศัยอยู่พื้นที่ข้างๆสวนลุมเมื่อเห็นว่า ตัวที่อาศัยอยู่เดิมไม่อยู่แล้ว ก็จะเข้ามาอยู่แทน ทำให้ประชากรเหี้ยในสวนลุมตอนนี้ กลับมาเหมือนเดิม

Advertisement

” ตัวเหี้ยแค่มีรูปร่างหน้าตา น่ากลัว และคนก็มักจะจินตนาการไปเองว่ามันจะทำร้าย แต่ความจริงแล้วสัตว์ชนิดนี้ ไม่เคยทำร้ายใครก่อน เมื่อเห็นคนมันพยายามจะหนีด้วยซ้ำ ยกเว้นว่า ใครที่ไปยั่วแหย่มันก่อน อาจจะโดนกัด หรือเอาหางฟาดเอาได้ หากถูกเหี้ยกัดหรือฟาดหางใส่ ต้องรีบล้างแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปหาหมอโดยเร็ว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสถิติของคนที่ถูหเหี้ยทำร้ายมีน้อยมาก”น.สพ.อลงกรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image