นักโภชนาการชี้’ปลาร้า’แหล่งโปรตีนชั้นเลิศ แต่ต้องกินสุก-ไม่ซ้ำซาก

เมื่อวันที่ 18 เมษายน นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ และที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้าปลาร้าทั้งในเรื่องรสชาติ กลิ่น สี และความสะอาด ว่า ต้องยอมรับว่าปลาร้าเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่น ที่รู้จักนำเอาปลาที่ในบางฤดูกาลมีจำนวนมากมาถนอมอาหาร โดยใช้เกลือและข้าวคั่วหมักและเก็บไว้กิน โดยเฉพาะในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ที่บางช่วงแล้งมาก ชาวบ้านก็จะได้ปลาร้าเหล่านี้มาทำกินเป็นอาหาร

นายสง่ากล่าวว่า ในด้านโภชนาการนั้น ถือว่าปลาร้ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะในปลาร้าคือแหล่งโปรตีนชั้นดีเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์อื่นๆ โดยจากการศึกษาพบว่า ปลาร้า 100 กรัม จะมีโปรตีนอยู่ถึง 15-20 กรัม นอกจากนี้ ยังมีสารอาหารอื่นๆ เช่น ฟอสฟอรัส แคมเซียม วิตามินบี1 (B1) วิตามินบี2 (B2) และวิตามินเค (K)

“แต่สิ่งที่ผู้บริโภคพึงปฏิบัติ คือ ต้องกินปลาร้าที่ปรุงสุกถึงจะได้โปรตีนมาก และลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งท่อน้ำดี เพราะในปลาร้าดิบจะมีสารไนโตรซามีน ที่ก่อเซลล์มะเร็งในบางอวัยวะของร่างกาย และที่จะต้องระมัดระวังคือ อย่ากินซ้ำซาก หรือกินบ่อยๆ เพราะในปลาร้ามีโซเดียมสูง กินมากจะมีผลต่อไต ทำให้ไตทำงานหนัก ดังนั้น ที่แนะนำคือ ควรนำปลาร้ามาทำเป็นอาหารประเภทน้ำพริกกินกับผักชนิดต่างๆ” นายสง่ากล่าว

นอกจากนี้ นายสง่ายังกล่าวถึงการผลิตปลาร้าเพื่อการส่งออกว่า หากจะทำเป็นสินค้าส่งออกเพื่อสร้างรายได้ สิ่งที่ผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึงมากคือ ความสะอาดและความปลอดภัย ต้องระมัดระวังทั้งพยาธิ และเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งดีที่สุดคือ ควรนำปลาร้าไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เช่น ปลาร้าบอง ปลาร้าสับ ฯลฯ และทำบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image