ทช.สำรวจปะการังภูเก็ต พบฟื้นตัวมีตัวอ่อนกระจาย

มื่อวันที่ 23 เมษายน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่สำรวจแนวปะการังที่เสื่อมโทรมบริเวณฝั่งตะวันตกของ จ.ภูเก็ต เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟูปะการังในพื้นที่เสื่อมโทรมโดยวิธีการที่เหมาะสม ผลจากการสำรวจเบื้องต้นทางด้านใต้ของเกาะปู อ่าวกะตะ อ่าวนาคา แหลมหยมดิ่ง และอ่าวป่าตองด้านเหนือ พบว่าแนวปะการังบางส่วนเริ่มมีการฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ มีตัวอ่อนปะการังอายุ 1-2 ปีขึ้นกระจายบนซากปะการังเดิมที่ตายแล้ว และมีเศษปะการังชนิดต่างที่แตกหักอยู่ตามพื้นในปริมาณมาก สามารถนำไปปลูกฟื้นฟูได้

นายธนา ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(สทช.) กล่าวว่า สาเหตุสำคัญและแนวโน้มของปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการังมีดังนี้ 1.เกิดจากภัยธรรมชาติ ได้แก่ การระบาดของดาวมงกุฎหนาม เนื่องจากปลาดาวมงกุฎหนามเป็นสัตว์กินปะการังเป็นอาหารโดยตรง เมื่อมันเพิ่มจำนวนขึ้นมากก็จะมีการกินปะการังมากขึ้น ผลกระทบจากการเกิดพายุ และคลื่นลม คลื่นและกระแสลมที่แรงจะทำให้กิ่งก้านของปะการัง เกิดการแตกหักเสียหายได้มาก ผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดในปะการังกิ่งมากกว่าปะการังก้อน กลุ่มของปะการังจะฟื้นตัวภายใน 1 ปี โดยพายุจะส่งผลให้ความหลากหลายของปะการังลดลงได้ แต่ก็จะมีการเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อได้รับแสงสว่าง สามารถเติบโตเพิ่มโคโลนีได้ต่อไป 2.เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ การที่มนุษย์เข้าไปในแนวปะการังย่อมเกิดผลกระทบต่อแนวปะการังอย่างแน่นอน ในเบื้องต้นทาง สทช. จะ ตรวจสอบพื้นที่แนวปะการังตามลำดับความสำคัญของพื้นที่ โดยเฉพาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อนำมาจัดทำแผนฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลในระยะเร่งด่วนของปีงบประมาณพ.ศ. 2562 – 2564 ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image