เมย์เดย์ 1 พ.ค. แรงงานยกทัพ เคลื่อนขบวนเรียกร้อง’บิ๊กตู่’ เช้านี้เส้นถนนราชดำเนิน

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นบริเวณจัดงานของ คณะจัดงานวันกรรมกรสากล 2561 ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2561 หรือวันเมย์เดย์ โดยกิจกรรมได้เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าเวลา 08.30 น.และจะเริ่มเคลื่อนขบวนเวลา 09.00 น. เพื่อเดินทางไปติดตามข้อเรียกร้องแรงงานต่อ พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริเวณทำเนียบรัฐบาล

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท.กล่าวว่า วันกรรมกรสากลในปีนี้คณะทำงานจัดงานวันกรรมกรสากล ได้มีมติร่วมกันว่าจะไม่มีการยื่นข้อเรียกร้อง ข้อเสนอต่อรัฐบาล แต่จะเป็นการทวงถามติดตามข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลที่ยื่นไปเมื่อปี 2560 เพราะสิ่งที่ยื่นไปยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของคนงานและขบวนการแรงงาน แม้ว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง แต่ในเนื้อหาสาระที่ตอบมาเป็นแบบกว้างๆ ตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินการตามนโยบาย หรือกรอบการทำงานของหน่วยงานเท่านั้น  มิได้เป็นการดำเนินการตามข้อเรียกร้องแต่อย่างใด ไม่มีระยะเวลาชี้ชัดว่าจะดำเนินการเมื่อใด พัฒนาการ ความก้าวหน้าและจังหวะก้าวในการทำงานไม่มี

ดังนั้น เพื่อให้ความต้องการของคนงานและขบวนการแรงงาน ได้ถูกนำไปพิจารณาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพราะรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้พยายามเน้นย้ำเสมอมาว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำของประเทศให้หมดไป และจะทำให้ประเทศมี “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” และ “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จะใช้เวลาไม่นาน แต่จนถึงขณะนี้แนวโน้มสัญญาณต่างๆ ไม่ชัดเจน การให้น้ำหนัก การให้ความสำคัญ ต่อการแก้ปัญหาต่างๆ ของคนงานไม่มีรูปธรรมมากนัก แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะทบทวนและจะให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้อง ข้อเสนอของขบวนการแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อข้อเสนอที่ได้ยื่นไปเมื่อปี 2560 จะนำมาปฏิบัติให้เป็นจริงตามความต้องการของคนงาน ทั้งนี้ก็เอาประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และคนงานเป็นสำคัญ

Advertisement

โดยข้อเรียกร้อง จำนวน 10 ข้อ มีดังนี้

ข้อที่ 1. รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ อันประกอบด้วย

  1. ด้านสาธารณสุขประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย
  2. ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ข้อที่ 2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ครอบคลุมทุกภาคส่วน

  1. กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คนตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และต้องเท่ากันทั้งประเทศ
  2. กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและปรับค่าจ้างทุกปี

ข้อที่ 3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม และอนุสัญญา 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 มาตรา 48)

ข้อที่ 4. รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการบริการที่ดี มีคุณภาพ มีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนดังนี้

  1. ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ
  2. จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ
  3.  ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

ข้อที่ 5. รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

ข้อที่ 6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม

  1. ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม
  2. จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน
  3. เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33
  4. เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพร้อยละ 50 ของเงินเดือนสุดท้ายนั้น ปัจจุบันผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลขององค์การแรงงานฯซึ่งผู้ประกันตน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนและครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์ โดยมีสิทธิรับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญ ขึ้นอยู่กับระยะเวลา การจ่ายเงินสมทบ
  5. ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับ ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558
  6. ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษา ตามคำวินิจฉัยของแพทย์

ข้อที่ 7. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกรณีที่นายจ้างไม่จายค่าชดเชยตามกฎหมาย ปิด หรือยุบกิจการทุกรูปแบบ

ข้อที่ 8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากกองทุน รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้

ข้อที่ 9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานภายใต้การมีส่วนร่วมของแรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ

ข้อที่ 10. รัฐต้องจัดสรรงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯเพื่อใช้บริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image