อาบเหงื่อต่างน้ำ ! กุลี ไพร่ ทาส ในประวัติศาสตร์ “แรงงานไทย” (ชมภาพชุด)

 

1 พฤษภาคม วันแรงงาน ผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาแต่ครั้งโบราณกาล เดิมมีแรงงานเป็นไพร่และทาสภายใต้ระบอบศักดินา โดยจัดเป็น แรงงานบังคับ กล่าวคือ ต้องมีการเกณฑ์มาทำงานในด้านต่างๆให้บ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างวัดวา เวียงวัง อีกทั้งถนนหนทาง รวมถึงเป็นทหารรบพุ่งกับข้าศึก

แรงงานสยามในอดีต ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ ลาว เป็นแรงงานสร้างกำแพงเมืองกรุงเทพ เขมรขุดคูคลอง เช่น คลองมหานาค รวมถึงชาวจีน ซึ่งถือเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรกๆของไทยในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จุดเด่นอยู่ที่ความขยันขันแข็ง ทำงานได้หลากหลาย ไม่เกี่ยงงาน คนเหล่านี้ ถูกเรียกว่า กุลีจีน มีสัญลักษณ์คือการผูกปี้ครั่งที่ข้อมือ เสียภาษีให้รัฐปีละ 2 บาท มีอิสระในการเดินทางและรับจ้างตามสมัครใจ


คนลาวในอีสาน และเวียงจันทน์เป็นผู้สร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการในกรุงเทพฯ (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5)

Advertisement

กุลีจีน ทั้งลากรถ ขุดบ่อ ทำงานในเรือ ก่อสร้างถนนหนทาง ทำงานหีบอ้อยในโรงน้ำตาล ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นแรงงานในการสีฝัดข้าวเปลือก แรงงานตัดเลื่อยไม้ด้วยมือ เป็นต้น

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฎิรูปประเทศหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการ เลิกทาส ซึ่งเป็นการยกเลิก ระบบไพร่ที่ต้องถูกเกณฑ์เป็นแรงงานหลวง

 

กุลีจีนลากรถ แรงงานสำคัญในยุคต้นรัตนโกสินทร์

ครั้นช่วงก่อนปี 2475 ปัญญาชนเสรีนิยมส่วนหนึ่งไปสร้างฐานทางการเมืองในหมู่คนงานในนาม “คณะกรรมกร” นำโดย ถวัติ ฤทธิเดช ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร ถวัลย์ ชาติอาษา ขุนสมาหารหิตะคดี (โประ โปรคุปต์)

คณะกรรมกร ได้เป็นกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “กรรมกร” ที่ออกเผยแพร่ในปี พ.ศ.2465 โดยมีเหตุจูงใจจากการที่ได้เห็นสภาพการเอารัดเอาเปรียบที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง และไม่เห็นว่าจะมีใครช่วยเหลือได้

คณะกรรมกร จึงมีความประสงค์ที่จะเป็นปากเป็นเสียงของมหาชน และพวกกรรมกรสยามเพื่อที่จะทำลายสภาพการเอารัดเอาเปรียบที่ลูกจ้างถูกกระทำอยู่ในขณะนั้น

หนังสือพิมพ์กรรมกร พยายามชี้ให้กรรมกรได้เห็นถึงสิทธิต่างๆที่กรรมกรควรได้รับตามแบบอย่างของประเทศอุตสาหกรรม เช่น สิทธินัดหยุดงาน สิทธิในการก่อตั้งองค์กรพิทักษ์ผลประโยชน์ของลูกจ้าง และยังชี้ให้เห็นระบบการปกครองในขณะนั้น ที่เอื้ออำนวยให้นายจ้างมีสิทธิที่เหนือกว่าลูกจ้างมากมาย


หนังสือพิมพ์กรรมกร ก่อตั้งขึ้นในพ.ศ. 2465 ก่อนจะปิดตัวลงเมื่อ พ.ศ.2467

 

ต่อมา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เกิดสมาคมที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน คือ สมาคมกรรมการรถรางแห่งสยาม นำโดย นายถวัติ ฤทธิเดช

จากนั้น เกิดหน่วยงาน “รัฐพาณิชย์” ซึ่งก็คือรัฐวิสาหกิจในยุคต่อมา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดพระราชบัญญัติกฎหมายแรงงานฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2499

ยุค 14 ตุลา พ.ศ. 2516 มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานมากมาย

23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 การรัฐประหารของคณะ รสช. ได้แยกสลายขบวนการแรงงานภาครัฐวิสาหกิจกับเอกชน ทะนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการหายสาบสูญ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้แรงงานราว 39 ล้านคน
ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน ระบุว่า แรงงานไทยกลายเป็นคนไม่มีภูมิหลัง ไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ส่งผลให้ถูกปฏิบัติอย่างไร้ค่าไม่เป็นธรรม จึงมีความพยายามส่งเสริมประวัติศาสตร์แรงงานไทยทั้งแง่ท่องเที่ยว การศึกษา ความบันเทิง และอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีการนำประวัติศาสตร์การเอาเปรียบแรงงานมาใช้ในอนาคต
และทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แรงงานไทย กลุ่มคนสำคัญของสังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้

ภาพและข้อมูลส่วนหนึ่งจาก พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน

ภาพถ่ายเก่าคนลาวในมณฑลอีสาน ซึ่งยุคแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ถูกเกณฑ์มาสร้างกำแพงและป้อมปราการในกรุงเทพฯ

กุลีจีน หรือจับกัง เป็น “แรงงานรับจ้าง” ยุคแรกๆของไทย โดยก่อนหน้านั้น มีแต่แรงงานเกณฑ์

แรงงานสยามในอดีต ภาพจากเวปศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงาน

นักโทษถูกนำมาใช้แรงงาน (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5)

การสีฝัดข้าวในอดีต

นายกสมาคมกรรมกร รถราง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image