อาหารเสริมปลอมเกลื่อน อย่าหวังพึ่งภาครัฐ ปชช.ต้องรู้จักเอาตัวรอด

ยังคงขยายผลปราบปรามต่อเนื่องจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไม่ได้คุณภาพ หลังจากตำรวจบุกค้นพื้นที่เป้าหมาย 13 จุดทั่วประเทศ

จนนำไปสู่การดำเนินคดีกับ “บริษัทเมจิกสกิน จำกัด” ผู้ผลิตอาการเสริมรายใหญ่ ที่พบมีการใช้เครื่องหมายการค้าอาหารและยา(อย.)ปลอม  การติดเครื่องหมายการค้าผิดประเภท ผลิตอาหารเสริมไม่ได้คุณภาพ และแหล่งผลิตที่ไม่ได้จดทะเบียน

ล่าสุดมีการขยายผลไปที่อาหารเสริมลดความอ้วนยี่ห้อลีน(Lyn)  ที่พบมีการใช้ “เลขอย.น้ำปลา”มาสวม และพบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 รายจากการกินอาหารเสริมยี่ห้อนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ทางอย.ได้ออกแถลงแจ้งเตือนแล้วว่าห้ามกินเพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิต

โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 4 รายนั้น ตามข้อมูลที่พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. แถลง รายที่ 1  น.ส.พิมลวรรณ หมอนอิง อายุ 31 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 พื้นที่ สภ.กาญจนบุรี กินยาเวลา 30 วัน แพทย์ให้ความเห็นเบื้องต้นหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน  รายที่ 2 นายณัฐพนธ์ บุญเทียม อายุ 33 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 เมษายน กินยาจำนวน 10 วัน พบว่าไขมันเส้นเลือดอุดตันและช็อก ซึ่งสารที่พบเป็นผลข้างเคียงของตัวยาที่พบในอาหารเสริมลีน

Advertisement

รายที่ 3 เสียชีวิตวันที่ 27 เมษายน ที่จ.ปทุมธานี นายประภัสร ลำใย อายุ 48 ปี แพทย์ให้ความเห็นหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ทานยามา 1 เดือนเศษ และส่วนรายที่ 4 เสียชีวิตวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา อยู่ระหว่างตรวจสอบชื่อ สถานที่

ทั้งกรณีของเมจิกสกินและลีน แม้จะเป็นมาตรการปราบปรามทั้งของทางตำรวจและทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แต่ต้องยอมรับว่าเป็นการตั้งรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ในขณะที่มาตรการเชิงรุกยังไม่มีความชัดเจนนักว่าจากนี้จะเอายังไงต่อ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง”อย.”ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเหล่านี้ขึ้นอีก  โดยเฉพาะในประเด็นที่ได้ตราอย.ไปแล้วแต่คุณภาพ มาตรฐานอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เช่น กรณีที่ตรวจพบในผลิตภัณฑ์เครือเมจิกสกิน

นอกจากอย.แล้วสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ประชาชนคาดหวัง ซึ่งนอกจากการรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากผู้บริโภคแล้วควรจะต้องหามาตรการอื่นอีกด้วยหรือไม่

ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับสภาพในปัจจุบัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องสำอางมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มูลค่าตลาดที่สูงกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี

นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผลิตภัณฑ์อาการเสริม เครื่องสำอาง ในตลาด 40% เป็นผลิตภัณฑ์ปลอม ที่มีการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารเสริม และยังมีโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 10,000โรงงาน

น่าห่วงว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่มีการโฆษณา อย่างดาษเดื่อนในสื่อแขนงต่างๆ มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง “ยังเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะไว้วางใจกลไกหน่วยงานรัฐที่จะเข้ามาควบคุม ดูแล”

ทางออกที่ดีที่สุดประชาชนในฐานะผู้บริโภค ควรต้องรู้จักเอาตัวรอด  อย่าไว้ใจในโฆษณา อย่าไว้ใจในสินค้าที่อวดอ้างว่ามีตราอย. ควรต้องตรวจสอบก่อนจะเลือกซื้อ เลือกใช้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image