งู ลิง นาก เหี้ย เรื่องปวดหัว กรมอุทยานฯ

เพราะว่า หน้าที่หนึ่งของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คือ การดูแล รักษา ปกป้อง ฟื้นฟู สัตว์ป่า ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ด้วย สัตว์ทั้ง 3 ชนิด คือ ลิง ตัวนาก และตัวเหี้ย ก็เป็นสัตว์ที่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง การมีสัตว์เหล่านี้น้อยเกินไป หรือมากเกินไปก็ถือเป็นปัญหาที่ต้องเข้าไปแก้เช่นเดียวกัน แต่ดูเหมือนว่า การที่จำนวนประชากรสัตว์เหล่านี้มีมากเกินไปนั้น ยังความปวดหัวให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ มากกว่าการที่พวกมันมีจำนวนน้อยเสียอีก

ดร.สุชาติ โภชฌงค์ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า เวลานี้ทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้รับหนังสือขอให้ออกไปช่วยเหลือเรื่องลิงอาละวาดสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศแทบทุกวัน โดยแต่ละที่ถือว่าประสบปัญหาหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน

”หลายพื้นที่ทั่วประเทศมีปัญหาลิงออกอาละวาด เข้าไปรื้อค้นข้าวของในบ้าน ทำร้ายนักท่องเที่ยว ประชากรมีแต่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหาอาหารกินได้ง่าย มีที่นอนสบาย ไม่มีศัตรูในธรรมชาติ ไม่มีใครทำร้าย มีแต่จะแพร่ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรไปเรื่อยๆ คือ กินดีอยู่ดี ไม่มีอะไรทำก็ผสมพันธุ์ มีลูกมีหลาน จากเดิมทีอยู่ในป่า อาหารหาไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายนัก มีศัตรูที่ควบคุมกันเองในธรรมชาติได้ แต่วันนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ประชากรลิงขยายพันธุ์ในรูปแบบที่ควบคุมยากมาก”Ž ดร.สุชาติกล่าว

ดร.สุชาติ กล่าวว่า เมื่อได้รับแจ้งเข้ามา ก็ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯจะสามารถไปได้และแก้ปัญหาได้ทันท่วงที เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ การไปในแต่ละพื้นที่ต้องใช้ทั้งสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครจำนวนมาก วิธีการที่เราทำไม่ใช่แค่การไปจับมาขังไว้ในกรง เพราะถ้าขังที่เหลือก็ขยายพันธุ์ต่อได้อีก วิธีการที่ทำคือ การควบคุมประชากรโดยการทำหมัน ปรับพฤติกรรม ให้ความรู้กับคนในชุมชน

Advertisement

“จ.ลพบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อุบลราชธานี ภูเก็ต พังงา กาญจนบุรี ฯลฯ ในบริเวณที่เป็นเกาะ เขาหินปูน มีประชากรลิงอาละวาดจำนวนมาก อย่างก่อนหน้านี้เราได้รับแจ้งจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับวัดเขาสมโภชน์ จ.ลพบุรี มีฝูงลิงอาศัยอยู่บนเขาสมโภชน์ประมาณ 5,000 ตัว แต่เข้ามาหาอาหารอยู่ในวัดและพื้นที่รอบๆ ราว 1,500 ตัว เจ้าหน้าที่เรา คือ สัตวแพทย์และอาสาสมัครเข้าไปช่วยกันจับมาตรวจสุขภาพ ทำหมันได้ประมาณ 150 ตัว ได้ไม่ถึงครึ่ง และก็ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ร้องขอมาอีก คาดว่าคงต้องทำตลอดทั้งปีŽ ดร.สุชาติกล่าว

ดร.สุชาติกล่าวว่า นอกจากลิงที่มีปริมาณมากเกินไปจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนแล้ว ล่าสุดได้รับการประสานจากทางสำนักงานเขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ ให้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาตัวนากที่มักจะเข้าไปขโมยปลาและกุ้ง ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ได้รับความเสียหายอย่างมาก

“เรื่องนากก็น่าปวดหัวไม่น้อย พื้นที่ที่ประสบปัญหามีขนาดประมาณ 200 ไร่ สำรวจพบตัวนากที่อยู่กันเป็นฝูงๆ ราว 200 ตัว พวกมันเข้าไปขโมยปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เป็นประจำ ชาวบ้านเคยแก้ปัญหาโดยเอาแร้ว หรือตาข่ายมาดัก แต่ปรากฏว่าทั้งแร้วและตาข่ายพังหมด เพราะนากตัวใหญ่ มีแรงเยอะ เราแนะนำให้ทำรั้วสูงๆ กั้นไม่ให้นากเข้าไปได้ เพราะนากกระโดดได้ไม่สูง แต่ไม่แน่ใจว่า นากจะไปหาพวกเศษไม้เศษหินมากองๆ ไว้ปีนเข้าไปได้หรือเปล่า เพราะพวกมันฉลาดมาก ล่าสุดนี้ มีการใช้รั้วไฟฟ้าที่เป็นไฟแรงต่ำมาล้อมตรงบ่อเลี้ยงปลาเอาไว้Ž

Advertisement

เหมือนรั้วกันช้าง…

คล้ายๆ รั้วกันช้าง แต่เป็นไฟโวลต์ต่ำมากๆ ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า เราต้องมาแก้ปัญหาตัวนากกันขนาดนี้ หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้คงต้องไปนั่งคุยกันอีกทีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”Ž หน. กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กล่าว

ดร.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า แต่ละวันมีการร้องขอให้เจ้าหน้าที่ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเข้าไปแก้ปัญหาสัตว์บุกบ้าน รุกบ้าน ทำลายข้าวของจำนวนมาก โดยเฉพาะลิง งูเหลือม งูหลาม และตัวเหี้ย ล่าสุดก็คือ ตัวนาก สำหรับลิงนั้นมีมากจนน่าตกใจ การเข้าไปทำงาน คือ จับมาตรวจสุขภาพและทำหมัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากในพื้นที่ด้วย และที่ผ่านมาทางหลายๆ พื้นที่ก็ให้ความร่วมมือกับการเข้าไปทำงานอย่างดี

ที่ทางสำนักอยากจะขอความร่วมมือมากกว่านั้นคือ การช่วยกันปรับพฤติกรรมของสัตว์เหล่านี้ งดให้อาหาร เพราะจะทำให้พวกมันเคยชิน หาอาหารเองไม่ได้ ขี้เกียจ จะเข้ามาใกล้คนมากขึ้นและสร้างความเดือดร้อนให้อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ สำหรับสัตว์ตัวอื่นๆ อย่างตัวเหี้ย และงูเหลือม งูหลาม ก็ได้รับแจ้งทุกวัน จับกันทุกวัน นอกจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่านี้แหละเข้าไปช่วยจับ เมื่อมีประชาชนร้องเรียนเข้ามา ตัวเหี้ยกับงูนี่เราไม่ค่อยหนักใจเท่ากับลิงและตัวนาก ตัวเหี้ยมันไม่ได้ทำร้ายอะไรใคร และหากพื้นที่ไหนไม่มีซากสัตว์ สิ่งปฏิกูลอยู่ มันก็ไม่ไป ไม่เข้าไปหา จับมาแล้ว เราก็เอาไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และเอาไปปล่อยป่า พวกมันก็อยู่ได้ แต่ลิงนี่คงจะต้องแก้ปัญหากันอีกยาวŽ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากล่าว

เพราะสังคมโลกแห่งนี้ต้องการความสมดุล
อะไรที่มากไป หรือน้อยไป ย่อมไม่ดีทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image