คอนเฟอเรนซ์ สสจ.ทั่วปท. พบ 5 เขตใช้วัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก!

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมวิดีโอทางไกล(คอนเฟอเรนซ์) ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ ถึงกรณีกระแสข่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังขาดแคลนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน ว่า ในการประชุมวิดีโอทางไกลครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เพื่อตรวจสอบข้อสังการว่า มีการสำรวจสต็อกวัคซีนในแต่ละแห่งเป็นอย่างไร โดยให้สำรวจทุกโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จากการตรวจสอบพบว่า มีสต็อกวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนจำนวน 4 แสนโดส โดยเดือนที่มีคนฉีดวัคซีนมากที่สุด คือ เดือนมีนาคม ประมาณ 58,000  คน รองลงมาคือ เดือนเมษายนอยู่ที่ 35,000 คน ทั้งนี้ในภาพรวมพบปริมาณการใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม  – เมษายน ฉีดไปแล้ว 1.56 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นคนที่ถูกกัดแล้วมาฉีด

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบวัคซีนพบว่า มีเขตพื้นที่กระทรวงสาธารณสุข หรือเขตสุขภาพอยู่  5 เขตที่พบว่า มีการระบาดในสัตว์และมีการฉีดวัคซีนมาก คือ เขต 12 ภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย พัทลุง ตรัง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล  เขต 6 ภาคตะวันออก มีชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ตราด และระยอง  และเขตพื้นที่ 7 ,9 และ 10 ซึ่งเป็นพื้นที่อีสานใต้ โดยเขตพื้นที่ 7 จะประกอบด้วยกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ส่วนเขตที่ 9 มีชัยภูมิ นคราราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์  สำหรับเขตที่ 10 มีมุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ซึ่งในการประชุมได้ย้ำแล้วว่า ต้องฉีดวัคซีนที่จำเป็นจริงๆ โดยฉีดสำหรับผู้ที่ถูกกัด ข่วน หรือเปื้อนน้ำลายสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าป่วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ที่ผ่านมามีการฉีดป้องกันล่วงหน้า ซึ่งตรงนี้ก็เข้าในบุคลาการสาธารณสุขว่าการจะสื่อสารให้ประชาชนอาจยาก เพราะประชาชนมีความกังวลว่า ตนเองจะติดเชื้อจึงมาฉีดป้องกันไว้ก่อน ซึ่งจริงๆ ไม่จำเป็นเนื่องจากการฉีดป้องกันล่วงหน้าจะมีข้อแนะนำสำหรับกลุ่มเสี่ยง คือ สัตวแพทย์ สัตวบาล หรือผู้ที่คลุกคลีกับสัตว์

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาเกิดจากอะไร จนมีผู้ร้องเรียนและกลายเป็นกระแสว่าขาดแคลน นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆ งบซื้อวัคซีนดังกล่าว เป็นงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรืองบบัตรทอง (UC) ซึ่งถือเป็นวัคซีนที่พิเศษกว่าวัคซีนทั่วไป เนื่องจากไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มป้องกันโรค แต่เป็นกลุ่มรักษา เพราะว่า เมื่อถูกกัดอย่างไรเสียก็ต้องมาฉีดวัคซีน แต่วัคซีนทั่วไปจะเป็นการป้องกันมากกว่า ดังนั้น จึงต้องถูกจัดอยู่ในกลุ่มการรักษพยาบาล ทำให้งบที่ได้ก็จะเป็นการใช้จากงบเหมาจ่ายรายหัวที่จัดสรรให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศอยู่แล้ว ซึ่งรพ.หลายแห่งซื้อสต็อกไว้มาก บางแห่งก็ซื้อไว้น้อย โดยแห่งที่ซื้อวัคซีนไว้จำนวนไม่มาก เมื่อมีคนมารับบริการมาก ก็ทำให้หมดเร็ว หรืออาจไม่พอ และจะไปขอยืมกับโรงพยาบาลอื่น ก็มีบางแห่งไม่ให้อีก ซึ่งจริงๆ ภาพรวมทั้งหมดไม่ขาดแคลน มีเพียงพอ หลายแห่งยังเหลือด้วยซ้ำ

Advertisement

“การระบาดของสัตว์ไม่ได้มีทุกจังหวัด จากที่คอนเฟอเรนซ์พบว่า เชียงราย สิงห์บุรี แทบไม่ระบาดเลย การฉีดในคนก็ค่อนข้างน้อย ภาพรวมวัคซีนมีเพียงพอแน่ ที่ต้องทำความเข้าใจคือ ไม่ต้องกลัวว่าจะขาด บางคนกลัวพาลูกหลานไปฉีดโดยไม่จำเป็น พอตระหนกวัคซีนก็ไม่พอ พอต่างประเทศรู้ว่าซื้อวัคซีนเยอะก็ขึ้นราคา จึงขอย้ำว่าเพียงพอแน่ แต่บางจุดที่มีประชาชนไปใช้วัคซีนเยอะๆ อาจขาดบ้าง ซึ่งมีมาตรการย้ำไปแล้วว่า รพ.สต.ไหนที่ขาดให้แจ้ง รพ.ชุมชน เพราะมีสต๊อกอยู่ก็จะจัดส่งไปให้ภายใน 24 ชั่วโมง” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามถึงบริษัทเลือกส่งวัคซีน  นพ.โอภาส กล่าวว่า เท่าที่สอบถามเพราะบางแห่งติดหนี้เยอะจึงไม่ส่ง เนื่องจากต่างคนต่างซื้อ แต่ถือเป็นเรื่องเก่า ตอนนี้ไม่มีแล้ว คืออาจยังมีการค้างจ่ายค่าวัคซีน แต่ต้องมีการส่งวัคซีน อำเภอไหนซื้อไม่ได้ให้จังหวัดดูแล ตอนนี้เข้าใจว่าภาพรวมไม่มีปัญหา แต่จุดไหนมีปัญหาให้รีบแจ้งจะลงไปดูแล และ รพ.ไหนไม่มีเงินซื้อ ก็ให้จังหวัดดูแลด้วย

“ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นผู้จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเท่าที่ตนทราบ เตรียมซื้อเข้ามาอีก 4 ล้านโดส ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วปีหนึ่งจะใช้ประมาณ 3 ล้านโดส เพียงแต่ปี 2561 อาจมีจำนวนมากขึ้น เพราะความต้องการมากขึ้น คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 5 ล้านโดส ซึ่งกำลังเข้ามาอยู่ก็เพียงพอแน่นอน โดยเราซื้อมาจากบริษัทที่ผลิตจากอินเดีย และจากจีน ซึ่งขนาดจีนเป็นประเทศใหญ่มาก เขาผลิตปีละ 40 ล้านโดส แต่ใช้เองในประเทศจริงๆ เพียง 12 ล้านโดส เรียกว่าทั่วโลกไม่มีใครฉีดเพิ่มเหมือนประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดการไม่เกิดปัญหาเช่นนี้ จนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ได้สั่งการไปยังสสจ.แล้วว่า ให้เป็นผู้สั่งการในระดับจังหวัดว่า รพ.ไหนต้องจัดซื้ออย่างไร และหากไม่เพียงพอให้หยิบยืม และจ่ายคืนกันในระดับพื้นที่ และหากไม่ได้อีกก็ให้ไปดำเนินการระดับเขต ซึ่งมีคณะกรรมการระดับเขต โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแล หากสุดท้ายไม่พอจริงๆในอนาคตก็ยังไม่ต้องกังวล เพราะกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข มีสต็อกวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนอีกประมาณ 1 แสนโดส” รองปลัด สธ. กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image