แกะรอย เกาะติด ส่องชีวิต “คิง คอบร้า” พญางู ผู้มีรักเดียว

แกะรอย เกาะติด
ส่องชีวิตคิง คอบร้าž
พญางูผู้มีรักเดียว

มีคนจำนวนน้อยมากที่จะรู้ว่าเวลานี้ประเทศไทย คือ ที่สุดของการศึกษาเรื่องงูจงอาง มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูจากทั่วโลกเข้ามาศึกษาเรื่องนี้ อยู่ที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จนมีการตั้งเป็นชมรมคนรักงูจากทั่วโลกอยู่ที่นี่ มีทีมงานและมีนักวิจัย และงานวิจัยเรื่องงูที่ดีและชัดเจนที่สุดในโลก

ผศ.ดร.พงษ์เทพ สุวรรณวารี อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมการผสมพันธุ์และการวางไข่ของงูจงอาง โดยใช้พื้นที่สงวนชีวมณฑล สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช

เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้นที่เป็นแหล่งอาศัยของงูหลายชนิด โดยเฉพาะงูจงอาง จากการเก็บข้อมูลโดยการจับงูมาศึกษา ติดเครื่องหมาย ติดวิทยุติดตามตัว มาเป็นเวลา 5 ปี สามารถติดเครื่องหมายงูจงอางได้มากถึง 56 ตัว ตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ติดตามอยู่ความยาวประมาณ 5 เมตรกว่าๆ น้ำหนัก 8 กิโลกรัม การติดวิทยุติดตามตัวเพื่อให้รู้ถึงชีวิตประจำวันและพฤติกรรมตลอดเวลาอีก 20 ตัว ทำให้รู้ถึงพฤติกรรมต่างๆ ของงูจงอางค่อนข้างดี

Advertisement

”ในโลกนี้มีเพียง 2 ประเทศที่ศึกษาเรื่องของงูจงอางอย่างละเอียดแท้จริง คือ ประเทศไทย และอินเดีย แต่ของเราถือว่ามีความก้าวหน้ากว่าอินเดียมาก เราจับงูได้มากกว่า ติดตามพฤติกรรมงูได้ลึกซึ้งละเอียดกว่า ถามว่าสัตว์อื่นๆ มีตั้งเยอะทำไมถึงมาศึกษาเรื่องงูจงอาง ความจริงแล้วเราศึกษาเรื่องงูหลายตัว ทั้งงูเห่า งูเขียว และงูจงอาง ซึ่งงูจงอางนั้นถือเป็นพญางู เป็นงูพิษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นงูที่ควบคุมประชากรงูทุกชนิด แม้กระทั่งงูเห่า ซึ่งงูเห่าเราเรียกว่า คอบร้า (cobra) แต่งูจงอาง นี่เป็น คิง คอบร้า (King cobra) มันสามารถทนทานต่อพิษงูเห่าที่มันกินได้ อาหารหลักของงูจงอางคือ งูทุกชนิด รวมไปถึงตัวเหี้ย เป็น 1 ใน งู 11 ชนิด ที่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ทางองค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือไอยูซีเอ็น จัดให้อยู่ในกลุ่มสัตว์ที่อ่อนไหวต่อการสูญพันธุ์ ทั้งนี้คนไทยถูกปลูกฝังมาแต่ไหนแต่ไรว่า งูเป็นสัตว์ร้าย เจอเมื่อไหร่ต้องตีให้ตาย ทั้งที่ความจริงแล้ว สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลกมีประโยชน์ และต่างมีหน้าที่ของตัวเอง เช่นเดียวกับงูจงอางที่จะกินงูตัวอื่น การเรียนรู้พฤติกรรมของงูทำให้ไม่ถูกงูกัดŽ” ผศ.ดร.พงษ์เทพกล่าว

เราจับงูกันอย่างไร วิธีไหน ไม่กลัวหรือ ผศ.ดร.พงษ์เทพบอกว่า ในเมื่อรู้วิธี รู้นิสัยใจคอ และระมัดระวังตัวเป็นอย่างดี การจับงูจงอางไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว นักวิจัยและอาสาสมัครของโครงการไม่เคยมีใครถูกงูกัดเลย

Advertisement

“ทีมจับงูเรามี 10 คน แบ่งเป็น 2 ทีม อุปกรณ์จับงูไม่มีอะไรมาก แค่ตะขอและกระสอบป่าน จับมาได้แล้ว เราจะให้เขาสงบสติอารมณ์ คลายเครียด 1 วัน จากนั้นเอามาชั่งน้ำหนัก วัดความยาว หากตัวไหนที่พบว่ามีความเหมาะสมสำหรับการติดวิทยุติดตามตัว ก็เอามาวางยาสลบเพื่อทำการผ่าตัดใส่วิทยุเข้าไป วิธีการคือ ให้เลื้อยเข้าไปในท่อพลาสติกใสยาวๆ แล้วพ่นยาสลบใส่ รอจนกระทั่งมันสลบ ซึ่งจะทดสอบโดยลองเอามือลูบเบาๆ เมื่อไรที่พบว่า กล้ามเนื้อคลายตัว หายเกร็ง แสดงว่างูสลบแล้ว เราจะไม่ดูที่ตาว่าปิดหรือเปล่า บางทีตาปิด อาจจะยังไม่สลบก็ได้ ต้องสังเกตจากการลดความเกร็งของกล้ามเนื้อเท่านั้นŽ

เมื่องูสลบ เราก็เอาเขามาผ่าตัดเปิดแผลบริเวณหน้าท้อง เพื่อสอดเครื่องรับส่งสัญญาณวิทยุเข้าไป ระหว่างผิวหนังกับกระเพาะอาหาร ใส่เสร็จก็เย็บแผล ทำความสะอาด และดูดเอายาสลบในตัวงูออกมา โดยการเอาท่อใส่ปากดูดเอายาสลบออกมาจากตัวงู แล้วเอาไปไว้ในกรง ประมาณ 3-4 ชั่วโมง งูก็จะฟื้น หลังจากนั้นเราก็คอยสังเกตอาการประมาณ 3-4 วัน เมื่อเห็นว่างูแข็งแรงแล้วเราก็เอาไปปล่อยในที่เดิม ที่เราจับมาได้ ทั้งนี้ทีมวิจัยก็จะมีเครื่องรับสัญญาณวิทยุที่สามารถติดตามได้ว่า แต่ละวัน แต่ละเวลา งูตัวนั้นไปไหนบ้าง เราก็พบว่า งูจงอางก็เลื้อยไปหางูตัวอื่นๆ กินอยู่ในป่า น้อยครั้งมากที่มันจะเข้าไปในบ้านคน เพราะอาหารของมันคือ งู มันล่างูชนิดอื่น ไม่ได้ล่าหนู มันจึงไม่ค่อยเข้าบ้านคน”Ž ผศ.ดร.พงษ์เทพกล่าว

ผศ.ดร.พงษ์เทพ สุวรรณวารี

น่าประหลาดใจว่า ในบันทึกการถูกงูกัดของโรงพยาบาลต่างๆ ไม่มีรายงานว่า คนไข้ถูกงูจงอางกัด
พวกมันกลัวคน กลัวมากๆ ด้วย หลีกได้มันจะหนีไกลเลย แค่ได้ยินเสียงกอกแกก มันก็หนีแล้ว ยกเว้นว่า จวนตัวจริงๆ มันรู้สึกว่ามีอันตรายต่อตัวมันในระยะกระชั้นชิดมันถึงจะกัด เช่น เราไปเดินป่า บางทีงูจงอางอาจจะอยู่ข้างๆ เราโดยที่เราไม่รู้เลยก็ได้ แต่แค่เรามีไม้แกว่งไปแกว่งมา มันก็หนีแล้ว ไม่เหมือนงูเขียว ที่มันจะซุ่มรอ และลอบกัดเหยื่อŽ

ถ้ารู้จักธรรมชาติของงูจงอางดี นอกจากมันไม่น่ากลัวอย่างที่เราคิดแล้ว มันเป็นงูที่มีความโรแมนติกอีกด้วย ช่วง 2 ปีที่เราตามงูจงอางตัวหนึ่ง น่าประหลาดใจมากที่พบว่า เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ งูตัวผู้มันผสมพันธุ์กับงูตัวเมีย ผสมกันเสร็จ ต่างก็แยกย้ายกันไปใช้ชีวิต แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ปีถัดมา งูตัวผู้มันก็จะกลับมาและเจอกับงูตัวเมียตัวเดิม และผสมพันธุ์กันอีกครั้ง ในปีถัดไปก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ เป็นเรื่องแปลก จะว่ารักเดียวใจเดียวก็ใช่ แต่ในแง่ชีววิทยา อาจจะเป็นเพราะมันเรียนรู้ว่า เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ หากมันเลื้อยมาอยู่ที่เดิมที่เคยได้คู่เมื่อฤดูก่อน มันจะได้ผสมพันธุ์อีกครั้ง และด้วยความที่งูตัวเมียมีน้อย พวกมันก็อาจจะได้เจอกันอีกรอบก็ได้Ž

งูจงอาง เจ้าคิดเจ้าแค้น มีระบบจดจำหน้าคนได้แม่นยำจริงหรือ
เรื่องระบบจดจำใบหน้าคนนั้นใช่ เพราะตลอดเวลาที่เราจับงูมาไว้ที่สถานีนั้นพวกมันจะจ้องหน้าลูกศิษย์ผมคนที่ไปจับมับอยู่ตลอดเวลา จ้องตาเขม็ง จนกระทั่งถึงเวลาปล่อย แต่ไม่ได้จดจำเพื่อกลับมาล้างแค้นอย่างที่เราคิด พวกมันจำเพื่อจะได้ระวังตัวว่า ต่อไปหากเจอคนนี้อีก ต้องหนีไปให้ไกล ทั้งนี้ตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมาไม่มีงูจงอางตัวไหนเลื้อยกลับมาล้างแค้นพวกเราเลย ถ้ามันกลับมาก็จะดีมากไม่ต้องไปตามหาให้เมื่อย จับรอบ 2 เสียเลยŽ ในห้วงเวลาประมาณ 10 ปีที่เป็นอายุขัยของงูจงอางทั้งหลาย แทบจะไม่มีเลยสักครั้งเดียวที่พวกมันย่ำยี ทำลายล้างใคร แค่ทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามที่ธรรมชาติกำหนด

สักแต่ว่ามนุษย์ทั้งหลาย ใช้จินตนาการ แสดงความเกลียดชัง เพราะรูปร่างหน้าตาของพวกมัน แล้วเข่นฆ่า ทำลาย รุกรานพื้นที่ จนกระทั่งธรรมชาติเสียสมดุลในที่สุด…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image