หมอจุฬาฯจี้สธ.เพิ่มนิยามกลุ่มเสี่ยงฉีด ‘วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในคน’ ก่อนถูกกัด!

เมื่อวันที่  5  พฤษภาคม  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมไวรัสสัตว์สู่คนกล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ยืนยันว่า วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนไม่ขาดแคลน ว่า  ตนก็ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ เนื่องจากที่เคยหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และใช้วัคซีนดังกล่าว พบว่า ขณะนี้วัคซีนนำเข้ามีเพียงบริษัทเดียวจากจีน ซึ่งเหลือเจ้าเดียวในตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ทำให้ออเดอร์ทั้งหมดเทไปที่บริษัทนี้ ปัญหาคือการจัดซื้อวัคซีนป้องกันในคน ทุกวันนี้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นผู้จัดสรรผ่านงบฯเหมาจ่ายรายหัวหรืองบบัตรทองให้แก่โรงพยาบาล ทำหน้าที่ไปจัดซื้อเอง ทำให้อำนาจต่อรองแทบไม่มี ตนมองว่า ระบบการจัดการวัคซีนของสปสช. เป็นปัญหา ควรมีการจัดระบบที่ดีกว่านี้ อาจต้องมีหน่วยงานกลางมาจัดการเรื่องนี้ ส่วนจะเป็นใครก็ต้องมาร่วมพิจารณา หรือจะให้สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา(อย.) มาดำเนินการเรื่องนี้แทน ตนว่าก็ต้องปฏิรูป อย. ก่อน เพราะตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่า อย.จะทำได้ขนาดไหน

“ จริงๆแล้วเมื่อกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าวัคซีนในคนเพียงพอ ก็ต้องมามองว่าความเป็นจริงเป็นเช่นไร เนื่องจากสถานการณ์การควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะเท่าที่ทราบยังมีการระบาดอยู่ และมีกระแสข่าวออกมาในระดับพื้นที่ว่า กรมปศุสัตว์ประกาศว่าพื้นที่ใดมีหมาแมวตาย ก็ถือว่าเสี่ยง แต่ไม่ต้องตรวจหัวหมาหัวแมวมายืนยันเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอยากถามว่าจริงหรือไม่ เพราะถ้าจริง จะน่ากลัวมาก เนื่องจากเป็นการปิดข้อมูล ในระดับการควบคุมโรคขององค์การอนามัยโลก ทำแบบนี้ไม่ได้ แต่ซ้ำร้ายผมยังได้ยินข่าวอีกว่า ที่ไม่ให้ตรวจหัวหมาหาเชื้อ เพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณในการให้ผู้ที่ทำการตรวจอีก ดังนั้น ขณะนี้เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ควบคุมสถานการณ์ได้ตามความเป็นจริง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และ

หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ กล่าวว่า ตนมองว่า สถานการณ์การควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในคนและในสัตว์ ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  อย่างในสัตว์ก็อย่างที่กลาวไปแล้ว แต่ในคนก็อย่างที่ย้ำเสมอว่า ระบบการบริหารต้องเปลี่ยน และต้องปรับความเข้าใจใหม่ในเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนล่วงหน้าว่า ไม่จำเป็นและฟุ่มเฟือย ซึ่งไม่ใช่ เพราะจริงๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในบางสถานการณ์ ซึ่งสำหรับประเทศไทยต้องแยกสถานการณ์ที่จำเป็นให้ได้ เพื่อการควบคุมโรคให้ได้อย่างแท้จริง  โดย ประเด็นสำคัญของการที่ต้องฉีดป้องกันล่วงหน้าคือถ้าในพื้นที่หรือในหมู่บ้าน อำเภอมีหมาชุมชน จรจัด เป็น 100 ตัว ที่เลี้ยงโดยให้วิ่งเล่นตามอิสระ หรือในรอบบ้านเรามีหมาแมวจรเป็นสิบตัว    ถ้ามีหมาบ้าเกิดขึ้นหนึ่งตัวในพื้นที่แสดงว่าหมาบ้าตัวนั้นต้องได้รับเชื้อจากตัวอื่นซึ่งตัวแรกที่เป็น ซึ่งอาจตายไปแล้วและตัวที่พบ ได้แพร่เชื้อให้เพื่อนๆในบริเวณเดียวกันเรียบร้อยแล้ว  ที่สำคัญอาการของสัตว์แต่ละตัวเกิดไม่พร้อมกัน   บางตัวอาจจะ 2 สัปดาห์ หรือ 2 เดือน 6 เดือน และ 8 เดือนก็เป็นได้

“ในกรณีที่มีการลงแขกฉีดวัคซีนให้ในพื้นที่แล้วก็ตามไม่ได้หมายความว่าหมาตัวที่เชื้อหลบเข้าไปในเส้นประสาทแล้ววัคซีนจะสามารถป้องกันได้  เพราะเชื้อไวรัสสามารถอยู่ในระบบประสาทและสมองโดยหมาไม่มีอาการได้ถึง 1-2 เดือนและวัคซีนไม่สามารถทำอะไรได้ หลังจากนั้นจึงค่อยแสดงอาการ ทั้งนี้หมาแมวนั้นยังสามารถปล่อยเชื้อได้ถึง 10 วันก่อนหน้ามีอาการและเมื่อมีอาการแล้วและเกิดมีอาการดุร้ายจะยิ่งสามารถแพร่เชื้อได้กว้างขวางมากขึ้น ดังนั้น พื้นที่ที่พบหมาหรือแมวบ้า โดยเฉพาะที่พื้นที่นั้นมีหมาแมวชุมชนที่วิ่งเล่นไปมาและประชาชนสามารถสัมผัสกับหมาแมวเหล่านี้ได้อยู่ตลอดเวลาทุกวันจะเป็นถูกกัดข่วน หยอกล้อคนๆนั้น จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าได้รับเชื้อไปหรือไม่ ดังนั้น การฉีดป้องกันล่วงหน้าถือเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขต้องเพิ่มนิยามหมวดนี้ลงไป และทำงานประสานกับพื้นที่ ทั้งกรมปศุสัตว์ หรือท้องถิ่น ตรวจดูว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงต้องทำจริงจัง และกรมปศุสัตว์ต้องชัดเจนว่า ตกลงแล้วพบหมาตายจะให้ตรวจเชื้อหัวสุนัขด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ เพราะเหตุผลใด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image