ผู้ป่วยเอดส์กว่า 2แสนคนชีวิตดีขึ้น สปสช.ชี้เพราะได้ ‘ยาต้านไวรัส’ เร็ว

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่าปี นี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อให้ สปสช.ดำเนินงานบริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงเดินหน้างานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ซึ่งจากข้อมูลในปี 2560 พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 5,801 คน หรือเฉลี่ยวันละ 16 คน ขณะที่แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยไม่ให้เป็นปัญหาสาธารณสุขภายในปี 2573

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 มีการรายงานผลการดำเนินงานด้านการบริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ระบุว่าการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากในจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 295,858 คน มีผู้ป่วยที่รู้สถานะการติดเชื้อถึง 285,671 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 96.56 และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ ได้รับการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัส 250,722 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 87.77 ถือว่ามากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่ผู้รับยาต้านไวรัสสามารถกดปริมาณไวรัสลงได้ 184,953 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 73.77

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลผลการดำเนินงานเฉพาะในส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ รายใหม่ พบว่าผู้ติดเชื้อเข้าถึงบริการได้รวดเร็วขึ้น สะท้อนจากข้อมูลผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ รายใหม่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรงมาก หรือค่า ซีดีโฟร์ (CD4) ต่ำกว่า 100 cells/mm3 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 57.51 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 38.79 ในปี 2560 และผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานดีอยู่ หรือค่าซีดีโฟร์มากกว่า 500 cells/mm3 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 2.61 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 13.93 ในปี 2560 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนได้รับยาต้านไวรัสโดยไม่คำนึงถึงระดับค่าซีดีโฟร์ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 และการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าถึงบริการรับคำปรึกษาและตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้รู้สถานะการติดเชื้อฯ และเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็วขึ้น

“นับตั้งแต่ปี 2548 ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ยาต้านไวรัสสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์และการบริการตรวจเชื้อเอชไอวี ได้ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคเอดส์ลงอย่างต่อเนื่อง” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image