คร.ออกแนวทางเวชปฏิบัติฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า หลังคำแนะนำองค์การอนามัยโลก

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีประเด็นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีปัญหาไม่เพียงพอ และมีข้อเสนอให้มีการปรับลดจำนวนการฉีดวัคซีนลงตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่า ต้องย้ำว่าปัญหาเรื่องวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนนั้นไม่ได้ขาดแคลนอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นเรื่องของการขาดมือ หมายความว่า มาจากการจัดการในหน่วยบริการ เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้จัดสรรงบฯและให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้จัดซื้อวัคซีนเอง ซึ่งโรงพยาบาลก็มีการจัดซื้อตามจำนวนเดิมในแต่ละปี แต่ปรากฏว่าช่วงที่ผ่านมาเกิดการระบาดในสุนัขและแมว โดยเฉพาะสุนัข ทำให้คนก็กังวล และมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ซึ่งในการรับบริการฉีดวัคซีนนั้น ในส่วนที่เมื่อสัมผัสเชื้อ ทั้งถูกกัด ข่วน หรือน้ำลายของสัตว์นั้นไม่มีปัญหา ทางโรงพยาบาลมีบริการฉีด แต่มีในเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ   ซึ่งจริงๆ กำหนดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ที่ต้องสัมผัสสัตว์บ่อยๆ ผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมโรคระบาดในสัตว์ในช่วงนี้ เป็นต้น

“ขอย้ำว่าวัคซีนไม่ได้ขาดแคลน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีวัคซีนในโรงพยาบาลสังกัดสธ.อยู่ 160,000 กว่าโดส และจากการประชุมการเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรค โดยมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมได้กำชับให้ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นผู้สั่งการและติดตามว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งของจังหวัดตนเองมีวัคซีนจำนวนเท่าไร และอยู่ในพื้นที่ระบาดหรือไม่ หากไม่อยู่ในพื้นที่ระบาดสัตว์ และมีวัคซีนเพียงพอก็ให้ รพ.ที่มีไม่พอมาหยิบยืมไปก่อน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่การบริหารจัดการ” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีข้อเสนอองค์การอนามัยโลกให้ปรับลดการฉีดวัคซีนลง จาก 28 วันเหลือ 7 วัน หรือตัดเข็มสุดท้ายออกนั้น นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ทาง คร.มีอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และมีคณะกรรมการวิชาการชุด ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาแล้ว แต่รอพิจารณาอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ ซึ่งเบื้องต้นทางกรมควบคุมโรคได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนล่วงหน้า ส่งให้แก่ผู้ตรวจราชการกระทรวงทั้ง 12 เขตพื้นที่ เพื่อสื่อสารไปยังโรงพยาบาลทั้งหมด

“โดยข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน ทั้งแบบก่อนและหลังสัมผัสโรค โดยอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าขึ้น สรุปคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนล่วงหน้าก่อนสัมผัสโรคนั้น เน้นให้เฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง ส่วนการลดจำนวนการฉีดวัคซีนนั้น ขอแนะนำให้พิจารณาตามพื้นที่ เพราะหากพื้นที่ไม่มีการระบาดในสัตว์ก็อาจปรับลดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกได้ ขอย้ำว่า การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน ถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงก็ไม่จำเป็นต้องฉีด” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามกรณีหมูติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะเป็นอันตรายต่อการบริโภคหรือไม่ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า จริงๆ การที่หมูติดเชื้อพิษสุนัขไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมติดได้หมด ส่วนที่กังวลเรื่องการบริโภคนั้น โดยหลักจะมีคำแนะนำอยู่แล้วว่า ห้ามบริโภคสัตว์ที่ป่วยตาย แม้จะปรุงสุก แต่ความเสี่ยงติดเชื้อมาจากการชำแหละ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image