ทางเลือก จัดการพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพระยะยาว

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าพื้นที่ป่าไม้ในที่ดินราชพัสดุเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ สมควรที่จะมีการฟื้นฟูและรักษาไว้ให้คงสภาพเป็นป่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง จึงอยากจะเสนอเพิ่มเติมว่า พื้นที่นี้มีลักษณะพิเศษหลายอย่างที่เอื้อให้สามารถใช้การจัดการแบบมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี คือ มีสถานะภาพเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ที่ไม่ใช่เขตป่าสงวนหรือป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ ทำให้ไม่มีข้อจำกัดในการดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่โดยหน่วยงานและภาคประชาชนที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย ดังที่ได้เห็นมาแล้วในพื้นที่อื่นๆ เช่น ที่ จ.น่าน กำลังมีการจะออกแนวทางพิเศษในการให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้าไปร่วมจัดการพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ดังนั้นจะไปทำให้พื้นที่นี้จะถอยหลังกลับไปสู่การจัดการแบบเดิมๆ ทำไม

ดร.อานนท์ กล่าวว่า ป่าดังกล่าวมีพื้นที่ ประมาณ 20,000 ไร่ ที่ส่วนใหญ่ยังมีสภาพเป็นป่า ย้ำว่าเป็นป่าตามสภาพความเป็นจริงตามระบบนิเวศ ไม่ใช่ที่กฏหมายกำหนดว่าเป็นป่า อยู่ใกล้กับเมืองใหญ่ มีสนามบินอยู่ใกล้ๆ ประชาชนมองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนทั้งจากทางบกและทางอากาศ เป็นหูเป็นตาในการตรวจสอบ ประชาชนในพื้นที่มีความตระหนัก มีความรู้ความเข้าใจและมีสถาบันการศึกษาที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ป่าไม้ จึงอยากเสนอว่า สำหรับพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพนี้ ไม่ควรเปลี่ยนสถานะภาพไปเป็นป่าอนุรักษ์แบบเดิมๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ แต่ควรจัดให้เป็นพื้นที่เพื่อการจัดการป่าไม้แบบมีส่วนร่วม โดยจะใช้กฏหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือจะออกเป็นกฏหมายพิเศษตามความเหมาะสมความจำเป็น

Advertisement

“ควรจัดให้มีคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาคประชาชนและนักวิชาการในพื้นที่ หน่วยงานของรัฐและนักวิชาการนอกพื้นที่ควรทำแค่การช่วยติดตามกำกับหรือให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ ให้คนในพื้นที่เขาทำกันเองตรวจสอบกันเอง ให้คณะกรรมการร่วมฯ เขาไปคิด ไปถกกันเอง ว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่ รวมถึงจะระดมทุนกันอย่างไร การฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกตัดทำลายไปนั้น อย่าไปปลูกเป็น “สวนไม้ยืนต้น” ที่หลายคนเข้าใจเอาว่าเป็น “ป่า” แต่ปล่อยให้ระบบมันฟื้นฟูด้วยตัวมันเอง เพราะพื้นที่โดยรอบๆ ยังมีแหล่งของลูกไม้พรรณไม้ตามธรรมชาติอยู่อีกมาก และควรเข้าใจว่า “ป่า” ในภูมิอากาศของประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่ใช่ป่าไม้ในจินตนาการของหลายๆ คน ที่จะต้องมีต้นไม้ขนาดยักษ์ เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี มีสัตว์ป่าขนาดใหญ่เดินกันยั้วเยี้ย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ตามสภาพของระบบนิเวศของมันหลายแห่งในประเทศไทยอาจมีต้นไม้แคระๆ แกร็นๆ โกร๋นๆ หลากชนิดขึ้นปะปนกัน และมันก็จะค่อยๆ พัฒนาไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในป่าไม้นั้นไม่ใช่การที่จะต้องมีต้นไม้หรือสัตว์ป่าขนาดใหญ่ แต่เป็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่จุลินทรีย์ในดินในน้ำ สังคมพืชสัตว์ต่างๆ รวมถึงมนุษย์ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย จึงไม่ควรไปฝืนความจริงตามธรรมชาติโดยการไปสร้างสวนขนาดใหญ่เชิงดอยสุเทพให้สนองกับความเชื่อหรือจินตนาการในความเป็นป่าที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลยครับ”ดร.อานนท์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image