กทม.ลุย ‘เลียบเจ้าพระยา’ 6.3กม. ไฟเขียว ‘สะพานเกียกกาย’ ยันคุ้ม

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญศึกษาและติดตามการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามนโยบายรัฐบาล ต่อที่ประชุมสภากทม.ว่า ได้ติดตามโครงการสำคัญ ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 14 กิโลเมตร (กม.) 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 (ฝั่งพระนคร) จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานสามเสน เขตบางซื่อและเขตดุสิต ระยะทาง 2.99 กม. งบประมาณ 1,770 ล้านบาท ช่วงที่ 2 (ฝั่งพระนคร) จากกรมชลประทานถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตดุสิตและเขตพระนคร ระยะทาง 3.91 กม. งบฯ 2,470 ล้านบาท ช่วงที่ 3 (ฝั่งธนบุรี) จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด พื้นที่เขตบางพลัด ระยะทาง 3.30 กม. งบฯ 2,061.5 ล้านบาท ช่วงที่ 4 (ฝั่งธนบุรี) ช่วงคลองบางพลัด ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตบางพลัด ระยะทาง 3.80 กม. งบฯ 2,061.5 ล้านบาท

นายนิรันดร์ กล่าวว่า 2.โครงการก่อสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำ คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากเขื่อนเดิมอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง ไปทางประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ ที่ กทม.รับผิดชอบในส่วนตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างเขื่อน ยาวประมาณ 45.3 กม. วงเงิน 1,645 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการคืบหน้าร้อยละ 27.80 ตอกเสาเข็มได้ 20,376 ต้น จาก 60,000 ต้น ขณะนี้ ร่วมกับรัฐบาล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เจราจากับชาวบ้านที่รุกล้ำคลองให้ออกจากพื้นที่

นายนิรันดร์ กล่าวว่า 3.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง 1.สะพานบริเวณแยกเกียกกาย 2.สะพานบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแเดง 3.สะพานบริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม และ 4.สะพานบริเวณถนนจันทร์-ถนนเจริญนคร ที่สำคัญคือ สะพานแยกเกียกกาย เนื่องจากมีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งมีการปรับรูปแบบสะพานหลายครั้ง เมื่อปรับแบบมาทางขวากระทบต่อพื้นที่วัดแก้วฟ้าจุฬามณี หากปรับแบบมาทางซ้ายจะกระทบต่อทัศนียภาพและความงดงามของอาคารสภาแห่งใหม่ ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ออกกฎกระทรวงควบคุมการก่อสร้างอาคารตึกสูงโดยรอบ หากจะเดินหน้าสร้างสะพานต่อ ส่วนนี้เห็นควรให้รัฐบาลหาแนวทางแก้ไข

ด้านนายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม.กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้ง 4 ส่วน ขั้นตอนการดำเนินการประสานงานกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนโครงการที่มีช่วงพาดผ่านสถานที่สำคัญ ยังไม่ได้ข้อยุติเช่นกัน ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามงานทุกเดือน ได้ข้อสรุปว่า จะดำเนินการในช่วงที่ 1 และช่วงที่ 3 เพราะไม่อยู่ในพื้นที่ของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

Advertisement

นายไทวุฒิ กล่าวว่า ส่วนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 4 แห่ง ล่าสุด สะพานบริเวณแยกเกียกกาย กทม.ได้เจราจรกับวัดแก้วฟ้าจุฬามณี เพื่อขอเบี่ยงแนวการก่อสร้างออกไประยะ 7 เมตร ซึ่งวัดไม่ขัดข้อง ขณะนี้ได้ประสานรัฐบาลขอย้ายงบฯ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 2 และช่วงที่ 4 จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและขอเวนคืนที่ดินในการก่อสร้างสะพานในปีงบประมาณ 2562 เบื้องต้นใช้เงินเวนคืนที่ดินประมาณ 6,000 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 4,500 ล้านบาท ส่วนสะพานบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะมีข้อพิพาทระหว่างประชาชนสองฝั่งแม่น้ำ ล่าสุดอยู่ระหว่างรอคำสั่งการที่ชัดเจนจากรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะที่สะพานบริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม และสะพานบริเวณถนนจันทร์-ถนนเจริญนคร ยังมีปัญหาในการพิจารณาแนวเวนคืนที่ดิน ซึ่งพบว่าแนวเวนคืนเดิมมีการก่อสร้างตึกใหม่ บดบังทับซ้อนกับแนวเส้นทางที่ กทม.ออกแบบไว้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น คาดว่าสามารถดำเนินการในช่วงที่ 1 และช่วงที่ 3 ได้ก่อน ส่วนช่วงที่ 2 และช่วงที่ 4 จะต้องปรับรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ที่รัฐบาลได้อนุมัติงบฯ ให้ กทม.8,000-9,000 ล้านบาท นั้น คาดว่าจะใช้ก่อสร้างช่วงที่ 1 และช่วงที่ 3 ประมาณ 4,000 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้รัฐบาลให้นำงบฯ จากช่วงที่ 2 และช่วงที่ 4 ที่ชะลอไว้ไปเป็นค่าจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบริเวณแยกเกียกกาย ยืนยันว่าคุ้มค่า ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าราชวงศ์-ท่าดินแดง ที่ยังมีข้อพิพาทระหว่างประชาชนทั้งสองฝั่ง ให้ชะลอไว้ก่อน เพราะไม่คุ้มค่ากับการก่อสร้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image